อีกครั้งกับ Trigger Fund

Trigger Fund ยังคงอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่อง แต่จะดีกว่าไหมถ้านักลงทุนสามารถกำหนดเป้าได้ด้วยตนเอง

Facebook Twitter LinkedIn

ผ่านไปเกือบ 3 เดือนสำหรับปฎิทินนการลงทุนประจำปี 2557 นี้ ผมหวังว่าพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนทุกท่านคงเขียวสดใสกันทั่วหน้านะครับ สำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ Product ที่ยังคงพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องคงหนีไม่พ้น Trigger Fund นั้นเอง เพราะหลังจากที่เมื่อปีที่แล้วได้มีการออกกันมาอย่างถล่มถลายสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 90 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 63,000 ล้านบาท ในปีนี้กระแสของ Trigger Fund ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องเพียงแต่แตกต่างกันไปในรายละเอียดเท่านั้นเอง

จากข้อมูลที่ มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการรวบรวมไว้ ปี 2557 นี้มีกองทุน Trigger Fund ออกขายและจดทะเบียนแล้ว 18 กอง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณ 5,800 ล้านบาท และยังมีประมาณ 2-3 กองทุนที่อยู่ในระหว่างทำการเสนอขาย (IPO) ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งหากดูจากตัวเลขจำนวนกองทุนที่ออกมาก็จะพบได้ว่า มีจำนวนน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วพอสมควร (ปี 2556 มี 28 กองทุน) และถ้าดูถึงเม็ดเงินลงทุนที่สามารถทำได้นั้นยิ่งมีความต่างกันสูงมาก โดยเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท ทำให้ถึงตอนนี้ Trigger Fund มีการเติบโตติดลบประมาณ 80% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (เปรียบเทียบช่วง 1 มกราคม  - 14 มีนาคม ปี 2556 กับ 2557)

รูปแบบของ Trigger Fund ที่แตกต่างไปจากปีที่แล้วที่สังเกตได้ขัดเจนคือ

  1. เป้าหมายของผลตอบแทนที่ลดลง จากที่เคยตั้งเป้าหมายกันไว้ที่เฉลี่ย 10% ก็ปรับลดลงมาเหลือ 5-8% เท่านั้น ซึ่งจุดนี้คงเป็นเพราะสถานการณ์ของตลาดที่มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้อยากต่อการตั้งเป้าหมายไว้สูงๆเช่นในอดีต และแน่นนอนที่สุดการตั้งเป้าหมายไว้ไม่สูงมากก็ย่อมมีโอกาสในการทำผลตอบแทนให้ถึงได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเช่นกัน
  2. บลจ. เริ่มออก Trigger Fund ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นต่างประเทศ (11 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 2,700 ล้านบาท) ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าดูจากจำนวนกองทุนนั้นก็มีมากกว่า Trigger Fund ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย (7 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 3,100 ล้านบาท) ด้วยซ้ำไป แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมก็ยังคงน้อยกว่าหุ้นไทย ซึ่งตรงนี้น่าจะสอดคล้องกับมุมมองของผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ที่เห็นโอกาสสำหรับการลงทุนในต่างประเทศมากกว่าตลาดหุ้นไทยที่ยังมีปัจจัยทางการเมืองรบกวนอยู่มาก
  3. ความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศที่ Trigger Fund เลือกไปลงทุน จากเดิมที่มีเพียงแต่หุ้นไทย อเมริกา และจีน ในปี 2557 นี้มีการออก Trigger Fund ที่ไปลงทุนในกลุ่มปนะเทศใหม่ๆเช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และเอเชียเหนือ มาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน

สำหรับบทเรียนที่ผมคิดว่านักลงทุนและอุตสหกรรมกองทุนต้องได้เรียนรู้ไปด้วยกันสำหรับ Trigger Fund ก็คือ

  1. สำหรับผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจว่าการลงทุนใน Trigger Fund นี้เป็นการลงทุที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนหุ้นทั่วไปเนื่องจาก Trigger Fund นั้นไม่สามารถซื้อเพิ่มหรือขายออกได้ก่อนกำหนด อีกทั้งนักลงทุนยังต้องยอมรับกับผลตอบแทนที่เป็นไปไม่ว่าลบหรือบวกเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุ (ในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้า)
  2. สำหรับ บลจ. ผู้ออกกองทุนนั้น หลาย บลจ. อาจมองว่าเป็นช่องทางในการขายกองทุนที่ได้ผลมากและสามารถทำรายได้ดีจากการเก็บค่าบริหารการจัดการกองทุน แต่ความเสี่ยงที่ตามมาก็คือ การทำผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมายในช่วงเวลาที่จำกัดนั้น บางครั้งต้องแลกมาด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงทำให้บางครั้งเกิดการวิเคราะห์ที่ผิดผลาดจนทำให้กองทุนไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ผมก็เชื่อว่า Trigger Fund ก็จะยังคงอยู่กับอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยไปอีกซักพักใหญ่เนื่องจากนักลงทุนยังคงให้การตอบรับพอสมควร ส่วน บลจ. ผู้ขายเองก็สามารถทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากการออกกองทุนดังกล่าว

ซึ่งมาถึงตรงนี้ผมก็อยากจะเสนอทางออกสำหรับรูปแบบของ Trigger Fund ที่มีในต่างประเทศเพื่อว่ามี บลจ. ไหนสนใจจะนำมาเสนอต่อผู้ลงทุนก็ไม่ว่ากัน

รูปแบบที่ผมเห็นในต่างประเทศนั้นก็คือ การที่ บลจ. มีระบบให้ผู้ลงทุนเป็นคนกำหนดจุดเป้าหมาย (Trigger) แต่ละคนเอง และเมื่อกองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้ถึงตามเป้าหมาย ระบบก็จะทำการขายหน่วยลงทุนให้โดยอัตโนมัติ

ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าวิธีดังกล่าว นอกจากจะช่วยกำจัดความเสี่ยงในเรื่องการซื้อขายได้ครั้งเดียวของ Trigger Fund แบบเก่าแล้วนั้น ยังเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ลงทุนในการกำหนดผลตอบแทนตามแต่ความพอใจของแต่ละบุคคลอีกด้วย ส่วนผู้จัดการกองทุนก็จะได้ไม่ต้องเร่งลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อทำผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมายอีกต่อไป

ส่วนข้อเสียที่ผมพอจะมองเห็นก็คือ บลจ. จะต้องลงทุนสร้างระบบที่ทีความแม่นยำในการคำนวณผลตอบแทนและเตรียมขั้นตอนการขายคืนหน่วยลงทุนให้พร้อมเป็นอย่งมาก ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าจะต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูงกับระบบดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามถ้าเรามองไปที่ประโยชน์ของผู้ลงทุนและอุตสาหกรรมโดยรวมก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst