ชีวิตหลังเกษียณ

เกษียณไปแล้วใครจะเลี้ยงดู หลายท่านยังคงหวังที่จะพึ่งลูกหลาน หลายมีเงินเก็บ แต่ส่วนใหญ่คงยังไม่ได้คิด

Facebook Twitter LinkedIn

ช่วงนี้นักลงทุนโดยเฉพาะท่านที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหลายท่านคงได้ทราบข่าวในช่วงเดือนที่ผ่านมาว่า ทางกรมสรรพากรจะทำการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของทั้งกองทุน  LTF และ RMF ว่าจะยังคงให้มีต่อไปหรือไหมนั้น เรื่องนี้ก็ทำให้หลายท่านวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย และจากข่าวดังกล่าวก็ทำให้หลายภาคส่วนทั้งฝ่ายตัวแทนของอุตสาหกรรมกองทุน ผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์เองนั้นเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างมากมาย แต่ล่าสุดก็เป็นที่ยืนยันแล้วว่า RMF นั้นจะยังคงมีต่อไป

จริงๆแล้วเรื่องนี้ส่วนตัวผมมองว่า เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังเนื่องจากกองทุนทั้ง 2 ประเภท มีความสำคัญอย่างมาก ไม่เฉพาะต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย ที่ LTF ทั้งหมด 52 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดประมาณ 236,186 ล้านบาท ขณะที่ RMF ทั้งหมด 125 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดประมาณ 149,500 ล้านบาท (ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2557)

ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ กองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญต่อการลงทุนเพื่อการเกษียณของนักลงทุน

ประเด็นเรื่องการออมหรือลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ ไม่เพียงแต่ประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว (หรือหลายประเทศอาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ) ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ ก็ประสบปัญหาที่คนในชาติไม่มีเงินออมที่เพียงพอเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณเช่นกัน ทั้งที่ประเทศเหล่านั้นมีระบบ Pension ที่แข็งแกร่งและมีวัฒนธรรมในการออมและการลงทุนเพื่อการเกษียณมายาวนาน รวมทั้งมีเครื่องมือในการลงทุนมากมายเพื่อวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น annuity product, retirement saving account, public pension fund และ provident fund.

แล้วทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับชีวิตในวัยเกษียณ? นั้นก็เพราะว่าเมื่อคนเรานั้นเกษียณแล้วนั้น ก็หมายความว่าเลิกทำงานประจำแล้วและเมื่อเลิกทำงานแล้วนั้นรายได้ที่เคยได้ในช่วงวัยทำงานนั้นก็จะไม่มีอีกต่อไป แต่ท่านอย่าลืมว่ารายจ่ายนั้นยังคงมีอยู่ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้นร่างกายก็ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม โอกาสในการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยอมสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน

ล่าสุดเรื่องผลงานวิจัยของ  Boston College Center for Retirement Research เปิดเผยว่า “กว่าครึ่งหนึ่งของประชาชนในอเมริกา รวมทั้งกว่า 60% ของผู้มีรายได้ต่ำ มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถรักษาสถานะความเป็นอยู่ให้คงเดิมได้ (standard of living) เมื่อถึงวัยเกษียณ”

ส่วนที่ประเทศอังกฤษ ผลงานวิจัยจาก the Prudential Class of 2014 Retirement Study ก็ออกมาปิดเผยว่า คนอังกฤษที่กำลังจะเกษียณในปีนี้กว่า 18% จะประสบปัญหาทางการเงินในวัยเกษียณ นั้นคือจะมีรายได้ต่ำกว่า 8,600 ปอนด์ต่อปี ซึ่งเป็นค่าต่ำสุดของมาตราฐาน (standard of living)

ปัญหาดังกล่าวนั้นเกิดมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การที่คนในชาติไม่ตระหนักถึงเรื่องชีวิตในวัยเกษียณ รวมทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งไม่มีการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ และที่สำคัญที่สุดคือการที่ไม่รู้จักออมและลงทุนเพื่อการเกษียณ

ส่วนประเทศไทยเรานั้นผลงานวิจัยในเรื่อง การออมหรือลงทุนเพื่อการเกษียณ นั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ก็คงจะพอคาดเดาได้ไม่ยากว่าปํญหาดังกล่าวนั้นน่าจะรุนแรงอยู่ไม่ใช่น้อย สังเกตได้จากการให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยังขาดทั้งเป้าหมายและการส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจนต่อประชาชน

ปัจจุบันคนไทยเรานั้นมีเครื่องมือที่จะช่วยลงทุนเพื่อการเกษียณอยู่น้อยมาก (เท่าที่พอจะนึกออก) ก็มี ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ก็เป็นไม่ได้เป็นระบบภาคบังคับให้คนทั้งประเทศเข้าร่วม หมายความว่าเฉพาะคนที่เข้ารวมเท่านั้นถึงจะมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์หรือผลตอบแทน ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนที่กระจายอยู่ในระบบต่างๆคิดเป็นเพียงไม่ถึง 25% ของประชากรทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็น สมาชิกประกันสังคมประมาณ 12 ล้านคน สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการประมาณ 1.2 ล้านคน สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 2.6 ล้านคน จำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุน RMF ประมาณ 450,000 บัญชี หรือในทางกลับกัน นั้นก็คือกว่า 75% ของประชากรในประเทศไทยเรานี้ไม่ได้อยู่ในระบบของการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ

นี้ขนาดผมยังไม่ได้ลงไปในรายระเอียดถึงตัวเลข สิทธิประโยชน์และผลตอบแทนของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือลงทุนในเครื่องมือต่างๆ ว่ามันเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณมากน้อยเพียงใด

ด้วยตัวเลขดังกล่าวก็คงพอจะทำให้เราพอนึกภาพคราวๆออกถึงสถานการณ์ของชีวิตในวัยเกษียณของคนในประเทศเราว่ากำลังตกอยู่ในขั้นวิกฤตมากน้อยเพียงใด เรื่องดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมเพียงแต่เป็นเรื่องคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญ รวมทั้งหลายคนอาจมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวเนื่องจากมันเป็นเรื่องของอนาคตมากๆ (ซึ่งปัจจุบันก็หาเช้ากินค่ำ ลำบากแทบแย่อยู่แล้ว) แต่หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (สำคัญที่สุดคือ ตัวท่านเอง) ไม่เริ่มคิดและวางแผนในเรื่องดังกล่าววันนี้ ความเสี่ยงที่ท่านจะเกษียณแบบยากลำบากก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นในส่วนของการคงนโยบายสิทธิประโยชน์ของ LTF และ RMF ส่วนตัวผมคิดว่า การคงอยู่ของทั้ง 2 กองทุนนั้นมีประโยชน์มากกว่าเสีย โดยเฉพาะในส่วนของ RMF ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อผู้ที่ลงทุนเพื่อการเกษียณซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนตรงจุดนี้ แต่อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องขยันขันแข็งในการช่วยส่งเสริมขยายฐานผู้ลงทุนให้กระจายไปทั่วสู่ประชาชนทุกระดับเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันด้วยเช่นเดียวกัน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst

© Copyright 2024 Morningstar, Inc. All rights reserved.

ข้อตกลงการใช้งาน        นโยบายความเป็นส่วนตัว       Disclosures