Best Fund House: Domestic Fixed Income

Morningstar Awards 2015 บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยมประเภทการลงทุนตราสารหนี้ภายในประเทศ (Domestic Fixed Income) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด

Facebook Twitter LinkedIn

Awards Logo

          หากจะกล่าวถึง บลจ.ธนชาต นักลงทุนหลายท่านคงจะคุ้นเคยกันดีในฐานะ บลจ. ที่มีความโดดเด่นในการสร้างผลการดำเนินงานได้ดี โดยหลายกองทุนของบลจ.ธนชาตได้รับรางวัล Morningstar Awards อย่างต่อเนื่องทั้งกองทุนหุ้นและตราสารหนี้ แต่การบริหารกองทุนตราสารหนี้ในประเทศที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งมาโดยตลอดในทุกๆกองทุนทำให้ บลจ.ธนชาต คว้ารางวัล บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยมประเภทการลงทุนตราสารหนี้ในภายประเทศ (Domestic Fixed Income) ไปครอง

ปัจจุบัน บลจ.ธนชาต มีกองทุนตราสารหนี้ในประเทศทั้งหมด 4 กองทุนโดยแบ่งเป็น กองทุนเปิดตราสารหนี้ทั่วไป 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด ธนชาตธนสาร (T-TSARN)  และ กองทุนเปิด ธนชาตธีรสมบัติ (T-TSB)

กองทุนเปิด RMF ตราสารหนี้ 2 กองทุน ได้แก่  กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (T-NFRMF) และ กองทุนเปิดธนชาตพันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (T-NGRMF)

โดยนโยบายการลงทุนของกองทุน NGRMF จะเน้นลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่อีก 3 กองทุน คือ TSARN TSB และ NFRMF จะมีนโยบายลงทุนที่กว้างกว่า กล่าวคือ ลงทุนได้ทั้งในพันธบัตรภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน และเงินฝาก

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ. ธนชาต ที่เป็นจุดเด่นคือ การเน้นสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะปานกลางถึงระยะยาวให้กับผู้ลงทุน จากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของทีมผู้จัดการกองทุน เพื่อวางกลยุทธ์ปรับ Portfolio Duration ให้สอดรับกับการคาดการณ์ดังกล่าว เช่น ถ้าคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะลดลง หรือ Yield Curve ของตราสารนั้นสูงหรือชันเกินไป กองทุนก็จะเพิ่มการลงทุนในตราสารที่มีอายุมากขึ้น โดยอาศัยการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย แนวโน้มเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย

อีกทั้งยังเน้นลงทุนในตราสารภาคเอกชนคุณภาพดี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มจาก Credit Spread และแบ่งสัดส่วนลงทุนใน เงินฝาก เพื่อลดความผันผวนของผลตอบแทนในบางช่วงเวลาหากสถานการณ์การลงทุนในตลาดตราสารหนี้มีความผันผวน

โดยในส่วนของพันธบัตรภาครัฐ ซึ่งเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องสูงในตลาดรอง จะเป็นสัดส่วนหลักในการสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนที่มาจากการซื้อขายทำกำไร (Trading)

  • ความแตกต่างของกลยุทธ์การลงทุนของกองทุนเปิดตราสารหนี้ทั่วไป คือ T-TSARN และ T-TSB จะอยู่ที่การแบ่งสัดส่วนการลงทุนในตราสารแต่ละประเภทที่มีสภาพคล่องแตกต่างกัน เนื่องจาก T-TSB ไถ่ถอนได้ทุกวัน ส่วน T-TSARN ไถ่ถอนได้ทุกเดือน ทำให้ T-TSB จะมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูงกว่า
  • ความแตกต่างของกลยุทธ์การลงทุนของ T-NFRMF และ T-NGRMF จะอยู่ที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารแต่ละประเภท ซึ่ง T-NFRMF เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และเงินฝากในสัดส่วนที่มากกว่า 

บลจ.ธนชาต มีปรัชญาในการลงทุนที่เชื่อมั่นว่าการลงทุนที่ดีจะต้องมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ผลการดำเนินงานต้องทำให้ผู้ลงทุนวางใจได้ในระยะยาว แม้ บลจ.ธนชาต จะมีการดำเนินงานในเชิงรุก ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ แต่จะอยู่บนพื้นฐานความรัดกุมสูงสุด โดยไม่นำเงินลงทุนไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น เน้นการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา และยึดหลักความโปร่งใสสูงสุด

การลงทุนที่ผ่านมาของ บลจ. ธนชาต ส่วนใหญ่จะลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก (Plain Vanilla) ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่าย เช่น พันธบัตรรัฐบาลที่มีสภาพคล่อง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีความเสี่ยงเทียบเคียงกับพันธบัตรรัฐบาลแต่มีผลตอบแทน สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลบ้าง หุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะลงทุนในระดับ A- ขึ้นไป ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น เช่น ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ระยะสั้น 

มุมมองของ บลจ.ธนชาต สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ จะมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก ประกอบกับพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศ  เช่น  สภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน แนวโน้มเงินเฟ้อ และพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น กระแสเงินทุนเข้า-ออกในตลาดเกิดใหม่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ และของประเทศต่างๆ ในเอเชีย  ประกอบกัน เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในเรื่องของ Portfolio Duration และกำหนดสัดส่วนการลงทุนว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเงินฝาก ในสัดส่วนเท่าใด โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน จะให้ความสำคัญกับ Credit Risk นอกจากพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือแล้ว จะวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท เพราะบริษัทจะอยู่รอดได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารเป็นสำคัญ    

บลจ.ธนชาต  มีมุมมองต่อเศรษฐกิจภายในประเทศและแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ไทยใน 3-5 ปีดังนี้ อัตราการขยายตัวของ GDP ในปีนี้จะดีขึ้นและน่าจะเห็นตัวเลขเกินกว่า 3% นอกจากผลของฐานที่ต่ำในปี 2557 แล้ว ยังน่าจะได้ผลดีจากภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ การค่อยๆ ฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคในประเทศ หลังจากที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายไปเพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ความคาดหวังว่าจะเห็นนโยบายการลงทุนของภาครัฐเริ่มส่งผล และราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำลงไม่กดดันเงินเฟ้อ แต่ค่าเงินบาทที่ดูจะแข็งค่ากว่าที่คาดการณ์และเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวได้ชัดเจนยกเว้นสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกอาจไม่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากนักในปีนี้ จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อไปตลอดทั้งปี

การเปลี่ยนวัฎจักรของอัตราดอกเบี้ยไทยเป็นขาขึ้นคงจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเริ่มในปี 2559 ไปแล้ว แนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนไหวของ Bond Yield แต่ก็จะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนที่จะสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Yield สูงขึ้นได้

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst