สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 ปี 2558

ตลาดหุ้นต่างประเทศปิดไตรมาสบวกสุดคึกคักโดยเฉพาะกลุ่มหุ้นในยุโรป ขณะที่ SET Index ปิดบวกเล็กน้อยเพียง 0.6% สินทรัพย์กองทุนรวมแทบไม่เปลี่ยนแปลงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังไม่ทะลุ 4 ล้านล้านบาท

Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

หากจะมองเพียงแต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธินั้นต้องยอมรับว่าไตรมาสแรกปีนี้นั้นอุตสาหกรรมเติบโตได้เพียงเล็กน้อย 0.19% โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.815 ล้านล้านบาท แต่หากมองลงไปในรายละเอียดความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เข้าสู่ตลาด ความสนใจในการลงทุนของผู้ลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งของกองทุน Trigger Fund แล้วนั้นก็ต้องถือว่าเป็นไตรมาสที่มีความตื่นตัวพอสมควร

แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มกองทุนที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มกองทุนประเภท High Yield Bond ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ตอนนี้หลาย บลจ.เริ่มออกกองทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ปล่อยให้ 2 บลจ. ยักษ์ใหญ่ (บลจ. กสิกรไทยและบลจ. ไทยพาณิชย์) เป็นผู้นำตลาดไปก่อนแล้ว โดยไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้ากองทุนประเภทนี้แล้วกว่า 130,000 ล้านบาท

ส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศนั้นยังคงได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาสแรกนี้มีกองทุนเปิดใหม่เพิ่มอีก 9 กองทุน ทำให้ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนในกลุ่มนี้นั้นสูงเกือบแตะ 100,000 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 25% จากสิ้นปีที่แล้ว และมีจำนวนกองทุนรวมทั้งหมดกว่า 140 กองทุน

โดยกลุ่มกองทุนหุ้นต่างประเทศนี้ หุ้นจีนถือว่าได้รับความนิยมสูงสุดจากนักลงทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 7,295 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มหุ้นญี่ปุ่นที่เงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 2,690 ล้านบาท และกลุ่มหุ้น Asia Pacific ex Japan ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 2,021 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อปีที่แล้วอย่างกลุ่มหุ้นยุโรปกลับมีเงินเทขายออกสุทธิจากนักลงทุนกว่า -1,686 ล้านบาท

FIF Equity Flow

อย่างไรก็ตามหากจะมองถึงภาพรวมการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ (ไม่นับรวมกองทุนประเภท Term Fund) ที่มีกว่า 250,872 ล้านบาท แล้วนั้นกลุ่มกองทุนที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดนั้นก็ยังคงเป็นกลุ่ม Global Bond (14.99%) ตามด้วยกองทุนทองคำ (13.56%) กองทุนหุ้นจีน (8.71%) กองทุนหุ้น Health Care (8.04%) และกลุ่มหุ้น Asia Pacific ex Japan (7.49%) ตามลำดับ

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมีเงินไหลเข้าสุทธิ 12 ไตรมาสติดต่อกัน รวมเป็นเงินกว่า 94,790 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมแล้วกว่า 179,738 ล้านบาท

Equity Flow

ส่วน Trigger fund นั้นยังคงดัรีบความนิยมอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสแรกนี้มีกองทุนเปิดใหม่มากถึง 38 กองทุน โดยทำยอด IPO ได้ประมาณ 14,556 ล้านบาท (สูงกว่าไตรมาส 1 ปี 2557 กว่า 8,000 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 19 กองทุน (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 6,103 ล้านบาท) ลงทุนในหุ้นไทย 14 กองทุน (5,859 ล้านบาท) และลงทุนในน้ำมัน 5 กองทุน (2,594 ล้านบาท) โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ตั้งเป็นเป้าหมายนั้นอยู่ที่ประมาณ 5-8% ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเมื่อปีที่แล้ว

 

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลตอบแทนกองทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 นี้ โดยเฉลี่ยมีเพียง 4 กลุ่มจาก 21 กลุ่ม ที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบ ซึ่งกลุ่มที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงนั้นจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศนำมาโดย กลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่เฉลี่ย 11.22% ซึ่งสวนทางกลับเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากกลุ่มนี้ ตามมาด้วยอันดับที่สองคือ กลุ่มหุ้นญี่ปุ่นที่เฉลี่ย 9.06%   และหุ้นจีนที่เฉลี่ย 4.56% ขณะที่หุ้นไทยกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 3.16% และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ทำได้เฉลี่ย 0.89%

ส่วนผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มตราสารหนี้นั้นยังไม่โดดเด่นมากนัก โดยกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond นั้นสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีที่ 0.72% และ  0.82% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่ม Global Bond และEmerging Market Bond  นั้นทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 0.5% และ  -0.3% ตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและทองคำนั้นยังคงไม่ดีอย่างต่อเนื่องโดย กองทุนน้ำมันนั้นยังคงเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบมากที่สุดอีกที่ -13.86% ส่วนกองทุนทองคำก็เฉลี่ย -1.39%

อย่างไรก็ตามนั้น อยากให้ผู้ลงทุนพิจารณาถึงผลตอบแทนในระยะยาวและคำนึงถึงการกระจายการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนจากตลาดอื่นๆด้วยเช่นกัน การวิ่งไล่ตามผลตอบแทน (chasing performance) นั้นไม่ใช่วิธีการลงทุนที่เหมาะสม

Category Return

ปิดท้ายกันที่กองทุน LTF และ RMF โดยภาพรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 262,978 ล้านบาท และ 167,825 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่ง LTF นั้นมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อปลายปี 2557 เนื่องจากไตรมาสที่ 1 นี้มีนักลงทุนขายออกสุทธิกว่า -12,780 ล้านบาท คิดเป็นประมาณเพียง 10% ของมูลค่าทั้งหมดที่สามารถขายได้ (กว่า 148,280 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าไม่มาก

ขณะที่ RMF นั้นมีเงินไหลออกสุทธิเล็กน้อยเพียง -51 ล้านบาท หยุดสถิติเงินไหลเข้าสุทธิของกลุ่ม RMF ไว้ที่ 11 ไตรมาสติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามหากมองเพียงกลุ่ม RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้นนั้นสัญญาณยังคงเป็นบวกโดยมีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 12 ติดต่อกัน โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2558 นี้ มีเงินไหลเข้าอีกกว่า 292 ล้านบาท

*ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst