40 ปีกับ Index Fund

ใครยังไม่รู้จักกองทุน Index Fund เชิญทางนี้ครับ

Facebook Twitter LinkedIn

          ไม่บ่อยมากนักที่จะเห็นกองทุน Index Fund สามารถทำผลตอบแทนขึ้นมาติดอันดับสูงสุด 20 อันดับแรกกันเกือบทุกกองทุน (หมายเหตุ: อันดับผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2016) ซึ่งโดยในอดีตที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วนั้นกองทุน Index Fund มักจะทำผลตอบแทนได้อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยเป็นส่วนใหญ่

ก่อนจะไปถึงเหตุผลรวมถึงความคิดเห็นที่มีต่อกองทุนประเภท Index Fund หรือ Passive Fund นั้น ผมอยากจะเล่าเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปให้ทราบกันก่อนครับ ซึ่งหากสังเกตจากหัวข้อเรื่องในวันนี้คงเดาได้ไม่ยากว่ากองทุน Index Fund นั้นมีขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว (1976) โดย คุณ John Bogle ผู้ก่อตั้ง Vanguard Group ซึ่งปัจจุบันคือ หนึ่งในบลจ. ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารกว่า 3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งในช่วงแรกของการออกกองทุน Index Fund นั้นก็ต้องยอมรับว่ามีอุปสรรคอยู่มากพอสมควรและไม่ค่อยได้รับความนิยมจากนักลงทุนเท่าไรนักแถมยังโดนวิจารณ์อย่างหนักจากบรรดานักวิเคาระห์และผู้จัดการกองทุนจากค่ายที่เป็น Active Fund อย่างมาก ซึ่งตลอดจนทุกวันนี้ 40ปีผ่านมาการถกเถียงเรื่องระหว่างกองทุน Index Fund (Passive Fund) และ Active Fund นั้นก็ยังไม่มีที่สิ้นสุดโดยเฉพาะในเรื่องของผลการดำเนินงาน

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฎิเสธได้เลยนั้นคือ ความนิยมที่มากขึ้นของกองทุนประเภทนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่เงินลงทุนกว่า 30% ในอุตสหกรรมกองทุนรวมนั้นลงทุนใน Index Fund และหากมองเฉพาะในกองทุนรวมหุ้นนั้นเกือบ 40% ลงทุนใน Index Fund โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว 2015 ที่มีเงินไหลเข้ากองทุน Index Fund ในอเมริกามากถึง 4 แสนล้านเหรียญดอลลาร์ (ที่มา: Morningstar Global Asset Flow 2015)

สัดส่วนของทรัพย์สินของกองทุน Index Fund ที่ลงทุนในหุ้น:

Index Fund

เหตุใดกองทุน Index Fund ถึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้มีอยู่ 3 เหตุผลหลักๆนั้นก็คือ

1. ค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่าย (Total Expense Ratio) ที่ถูกมาก โดยบางกองทุนเรียกเก็บเพียง 0.05% ต่อปี (Vanguard S&P 500 ETF)

2. ความสม่ำเสมอของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่สามารถคาดหวังได้จากกองทุน ซึ่งนั้นก็คือ เท่าๆกับดัชนีชี้วัด (Benchmark หรือ Index) ที่กองทุนกองนั้นทำการ track อยู่นั้นเอง ซึ่งตรงนี้นักลงทุนไม่ต้องมาลุ้นว่าเราจะเลือกกองทุนที่มันทำผลตอบแทนได้ดีหรือแย่กว่าดัชนีชี้วัดหรือไม่นั้นเอง

3. ความที่กองทุน Index Fund นั้นมีนโยบายการลงทุนที่ผู้ลงทุนสามรถเข้าใจได้ง่ายและยังสามารถมองเห็นภาพพอร์ตการลงทุนของกองทุนได้อย่างชัดเจน

ในส่วนของความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุน Index Fund นั้นก็มีอยู่เช่นกันโดยเฉพาะในเรื่องการปรับน้ำหนักการลงทุน ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ตลาดหุ้นตกในปี 2008 กองทุน Index Fund ก็ยังคงต้องลงทุนในหุ้นทั้งหมดไม่สามารถทำการลดน้ำหนักเพื่อมาถือเงินสดได้เหมือนเช่นกองทุน Active Fund เนื่องจากต้องลงทุนตามนโยบายเพื่อ track ดัชนีชี้วัดนั้นเอง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนลงทุน

แต่ในทางกลับกันในช่วงที่หุ้นขึ้นอย่างเช่น ตั้งแต่ต้นปี 2016 เป็นต้นมานี้กองทุนหุ้นไทยที่ทำผลตอบแทนได้ติดอันดับ Top 20 นั้นกลับเป็นกองทุน Index Fund ซะส่วนใหญ่นั้นเป็นเพราะกองทุน Index Fund นั้นได้ลงทุนในหุ้นเต็ม 100% ซึ่งต่างจากกองทุนหุ้นไทยแบบ Active Fund ที่เมื่อช่วงต้นปีนั้นเหล่าผู้จัดการกองทุนต่างลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยเหลือเฉลี่ยเพียง 90% เท่านั้นจึงเป็นผลให้เวลาหุ้นขึ้นกองทุนจึงไม่ได้รับผลตอบแทนแบบเต็มๆนั้นเอง

แต่อย่างไรก็ตามกองทุน Index Fund ในบ้านเรานั้นก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมจากผู้ลงทุนมากเท่าไรนัก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ลงทุนยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุนของมันอย่างแท้จริงก็เป็นได้ หรืออาจจะรวมไปถึงความหลากหลายของกองทุน Index Fund ในบ้านเราที่ยังมีอยู่น้อยนั้นก็เป็นได้

แต่สุดท้ายจะลงทุนกองทุนประเภท Index Fund หรือ Active Fund นั้นก็ยังมีอีกหลายปัจจัยทั้งความรู้ในการลงทุน ประสบการณ์ในการลงทุน ข้อมูลที่ใช้เปรียบเทียบ และอื่นๆ ซึ่งหากผู้ลงทุนท่านใดยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนรวมไปถึงการเลือกกองทุน Active Fund ที่ดีที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอนั้น การที่จะเลือกลงทุนใน Index Fund ที่มีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าแถมสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้ดีกว่านั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ควรมองข้าม

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst