มาดูกัน! LTF กองไหนสม่ำเสมอที่สุด

ความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา นั้นถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะสามารถแสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนได้เป็นอย่างดี 

Facebook Twitter LinkedIn

          เข้าสู่ 2 สัปดาห์สุดท้ายของปีนี้อย่างเป็นทางการกันแล้วนะครับ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดช่วงหนึ่งของปีสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมในบ้านเราเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะทำการลงทุนกันโดยเฉพาะ 2 กองทุนสุดฮิตนั้นก็คือ LTF และ RMF นั้นเอง

โดยปรกติแล้วนั้นเม็ดเงินลงทุนของทั้ง 2 กองทุนนี้จะไหลเข้าช่วง 2 สัปดาห์คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 50% ของเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของทั้งปี ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่เกินกว่า 50% นั้นยังคงไม่ได้ลงทุนในกองทุน 2 กองทุน จนถึง ณ ตอนนี้ คำถามตามมาที่สำคัญก็คือ ทำไมต้องรอกันจนถึงช่วงท้ายของปี ตรงนี้จริงแล้วก็มีหลายเหตุผลอยู่ที่พอจะนึกได้ เช่น หลายคนรอจังหวะในการลงทุน บ้างก็รอเงินโบนัส บ้างก็พยายามทำให้ช่วงเวลาในการลงทุนเหลือน้อยที่สุด  หรือหลายคนก็ยังไม่รู้จะลงทุนกองไหน ไม่รู้จะเลือกยังไงดี

วันนี้ผมมีอีกหนึ่งวิธีการเลือกกองทุนมาเล่าสู่กันฟังครับ ซึ่งจะเป็นค่าสถิติที่แตกต่างไปจากค่าสถิติตัวอื่นๆที่นักลงทุนคุ้นเคยกันมีชื่อเรียกว่า “Batting Average” ฟังชื่อกันแล้วนักลงทุนหลายท่านคงงงอยู่ว่าค่าสถิติตัวนี้มันคืออะไร แล้วมันจะใช้อย่างไรในการวิเคราะห์กองทุน

Batting Average นั้นจริงๆแล้วมีที่มาที่ไปมาจาก ค่าสถิติของกีฬาเบสบอลซึ่งมีไว้ใช้วัดค่าเฉลี่ยในการตีลูกเบสบอลของนักกีฬาเบสบอลในตำแหน่ง “Batter” หรือคนตีลูกนั้นเองว่านักกีฬาคนนั้นสามารถตีลูกโดนคิดเป็นกี่ % บ่งบอกถึงฝีมือความแม่นยำ

ซึ่งตรงจุดนี้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกองทุนรวมได้โดย Batting Average สำหรับกองทุนรวนนั้นเราจะมาหากันว่ากองทุนกองไหนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ชนะค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่มที่ตัวเองอยู่ได้ หรือ ดัชนีชี้วัด (Benchmark) มากครั้งที่สุดโดยคำนวณจากผลตอบแทนรายเดือน ซึ่งตรงจุดนี้ก็สามารถบ่งบอกถึงความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนของกองทุน (performance consistency) ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับสูตรการคำนวณ Batting Average นั้นก็ไม่ได้มีอะไรมาก มันคือเอาผลตอบแทนของกองทุน (รายเดือน) นั้นมาเทียบกับผลตอบแทนค่าเฉลี่ยของกลุ่ม หรือ ดัชนีชี้วัด (Benchmark) จากนั้นก็มาดูว่ามีกี่เดือนที่กองทุนทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มจากนั้นก็นำไปหารกับจำนวนเดือนที่ใช้ในคำนวณ ตัวอย่างเช่น ถ้ากองทุนนั้นสามารถชนะค่าเฉลี่ยของกลุ่มได้ทุกเดือน ค่า Batting Average ก็จะเท่ากับ 100 แต่ถ้าหากผู้จัดการกองทุนสามารถทำผลตอบแทนชนะได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่ง ค่า Batting Average ก็จะเท่ากับ 50 นั้นเอง ดังนั้นค่าสถิตินี้ยิ่งมากก็คือยิ่งดี หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนนั้นสามารถทำผลตอบแทนชนะค่าเฉลี่ยของกลุ่มหรือ ดัชนีชี้วัด ได้อย่างสม่ำเสมอนั้นเอง

มาถึงตรงนี้ก็มาถึงคำตอบของคำถามที่ผมตั้งไว้ เราจะมาดูกันว่ากองทุน LTF กองไหนมีความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนเอาชนะดัชนีชี้วัด (Benchmark) ได้มากที่สุด ซึ่งในการหาข้อสรุปในครั้งนี้ ผมใช้ดัชนี SET 50 เป็นเกณฑ์เนื่องจากกองทุน LTF ส่วนใหญ่มากกว่า 90% เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่มา: Morningstar Direct)

3 อันดับกองทุน LTF ที่มีค่า Batting Average สูงที่สุดในรอบ 3ปีที่ผ่านมา

3Y Batting average

3 อันดับกองทุน LTF ที่มีค่า Batting Average สูงที่สุดในรอบ 5ปีที่ผ่านมา

Batting Average 5Y

3 อันดับกองทุน LTF ที่มีค่า Batting Average สูงที่สุดในรอบ 10ปีที่ผ่านมา

Batting Average 10Y

 

ข้อสังเกตของค่า Batting Average นี้ที่นักลงทุนควรทราบก็คือ

  1. เป็นเพียงค่าที่ใช้สำหรับวัดความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่มหรือ ดัชนีชี้วัด (Benchmark) เท่านั้น
  2. ไม่จำเป็นว่ากองทุนที่ได้ค่า Batting Average สูงที่สุดนั้นจะมีผลตอบแทนรวม (Total Return) สูงที่สุดตามไปด้วย เพราะค่า Batting Average นี้ไม่ได้บอกว่ากองทุนชนะหรือแพ้มากเท่าไหร่ในแต่ละเดือน
  3. ค่า Batting Average นี้เหมาะสำหรับการวัดผลการดำเนินงานของกองทุน Active Fund (บริหารเชิงรุก)

อย่างไรก็ตามต้องเรียนค่าสถิติเหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นสำหรับการตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุน ผู้ลงทุนควรทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมทั้งในส่วนของสไตล์การลงทุน ค่าธรรมเนียม ความเสี่ยงและผลตอบแทนรวมเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst