ปรับพอร์ตกองทุนรวม

ผ่านไปแล้วกับปี 2017 นะคะ หุ้นทั่วโลกปรับตัวบวกพร้อมกันถ้วนหน้า รวมถึงหุ้นไทยที่เดินหน้าทำ New High อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนควรใช้โอกาสนี้ในการทบทวนและปรับพอร์ตกองทุนรวม เรามาเริ่มกันเลยคะ

Morningstar 04/01/2561
Facebook Twitter LinkedIn

มีนักลงทุนหลายคนยังมีความเชื่อว่า เมื่อลงทุนกองทุนรวมไปแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร  แต่ในความเป็นจริง เราอาจมองข้ามเรื่องสำคัญบางเรื่องไป หนึ่งในนั้นคือการปรับพอร์ตกองทุน หรือที่เรียกว่า Rebalancing Portfolio

นักลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาวต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) เช่น แบ่งเงินลงทุนไปกองทุนรวมหุ้น 60% กองทุนรวมตราสารหนี้ 30% กองทุนรวมทองคำ 10% ฯลฯ การทำเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน (เพราะไม่มีสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนที่ดีได้ตลอดไป) แล้วยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี หลังจากเราลงทุนตามสัดส่วนที่ต้องการแล้ว นักลงทุนยังต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่พอร์ตกองทุนของตัวเองเพื่อให้น้ำหนักการลงทุนเป็นไปตามที่วางแผนไว้แต่แรก  

โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดผันผวนยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเมื่อสภาวะเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อพอร์ตลงทุน เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบว่าสัดส่วนพอร์ตลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายเดิมที่วางเอาไว้หรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่ต้องทำอะไร แต่หากสัดส่วนเงินลงทุนเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับพอร์ตลงทุนใหม่ให้กลับไปเหมือนเดิม เช่น หากกองทุนรวมหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 80% กองทุนรวมตราสารหนี้ลดลงเป็น 15% กองทุนรวมทองคำลดลงเป็น 5% ก็ต้องทำการขายกองทุนรวมหุ้น แล้วนำผลกำไรไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมทองคำ เพื่อให้พอร์ตลงทุนมีหน้าตาเหมือนเดิม

ดังนั้น การปรับพอร์ตลงทุน ก็คือการปรับสมดุลของพอร์ตลงทุนให้สัดส่วนของสินทรัพย์ที่ลงทุนเอาไว้ให้กลับมาอยู่ในเป้าหมายที่วางเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงแล้วยังช่วยป้องกันความเสี่ยงไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไปอีกด้วย

นอกจากนี้ นักลงทุนสามารถปรับพอร์ตลงทุนตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เช่น วัยรุ่นก็เน้นลงทุนกองทุนรวมหุ้นมากหน่อย เพราะสามารถรับความเสี่ยงได้มาก และหากผิดพลาดก็ยังพอมีเวลาปรับพอร์ตการลงทุน อีกทั้งมีความได้เปรียบทางด้านเวลาในการถือครองได้นาน ทำให้มีโอกาสได้กำไรจากการทบต้นของผลตอบแทน  เมื่อเข้าสู่วัยสร้างครอบครัวก็ลดสัดส่วนกองทุนรวมหุ้นลงบ้างเล็กน้อย และเมื่อเข้าสู่วัยกำลังเกษียณ เช่น อายุ 50 ปี ก็ลดกองทุนรวมหุ้น แล้วเพิ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน และสร้างความมั่นคงด้านผลตอบแทน เป็นต้น

ข้อสำคัญ นักลงทุนไม่ควรปรับพอร์ตบ่อยจนเกินไป เช่นทุก 1 หรือ 3 เดือน เพราะนอกจากจะผิดวัตถุประสงค์การลงทุนระยะยาวแล้ว ยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายกองทุนรวมในแต่ละครั้ง

สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับประกอบการตัดสินใจการปรับพอร์ตกองทุนรวมของท่านต่อไป

 

 

 

 

 

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar