ทำความรู้จักกับ Common Holdings Score กันซักหน่อย

Common Holdings Score คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร วันนี้มอร์นิ่งสตาร์จะมาเล่าให้ฟังนะครับ

Morningstar 07/03/2561
Facebook Twitter LinkedIn

ในปัจจุบันมีเครื่องมือเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกองทุนมากมายให้นักลงทุนได้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนกองทุน ความเสี่ยง หรือข้อมูลพอร์ตโฟลิโอของทุน วันนี้ทาง Morningstar มีอีกหนึ่งเครื่องมือมาแนะนำที่ชื่อว่า “Common Holding Score (CHS)” หลายคนพอได้ยินชื่ออาจจะพอนึกออกคร่าวๆว่ามันคืออะไร หรือบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเลยด้วยช้ำ เจ้า CHS นี่ถ้าแปลกันตามชื่อตรงๆก็คือ “คะแนนการถือครองสินทรัพย์ที่เหมือนกัน” หรือ “เครื่องมือที่เราเอาไว้ดูว่ากองทุนที่เราต้องการเปรียบเทียบพอร์ตโฟลิโอในของกองทุนตั้งแต่ 2 กองขึ้นไป ถือสินทรัพย์คล้ายกันแค่ไหน มากน้อยเท่าใด โดยเราสามารถเปรียบได้ทั้งหุ้น พันธบัตร แม้กระทั่งเงินสดที่กองถืออยู่” รู้แบบนี้หลายคนอาจจะนึกสนใจที่จะศึกษาขึ้นมาบ้างแล้ว นักลงทุนทุกท่านสามารถหารายชื่อสินทรัพย์ที่ถืออยู่แบบเต็ม (Full Holdings list) ของกองทุนที่ท่านสนใจได้จากรายงานทุกๆครึ่งปีนะครับจากทางเว็บไซต์ของบลจ.นั้นๆ ส่วน Concept การคำนวณคร่าวๆของ CHS ขออธิบายง่ายๆ กันก่อนตามรูปนี้ครับ

CHS

จากรูป กองทุนที่ 1 และ 2 ถือหุ้นทั้งหมด 4 ตัว แต่มีหุ้นที่เหมือนกัน 3 ตัว คือ A ,B ,C โดยแต่ละกองทุนลงทุนในน้ำหนักที่ต่างกันไปตามสัดส่วน เช่น กอง 1 ลงทุนหุ้น A = 10% และ กอง 2 ลงทุนหุ้น A = 15% โดยน้ำหนักที่ลงทุนเหมือนกันคือลงทุนในหุ้น A = 10% ,B=20% ,C= 15%  (**เรานับน้ำหนักที่น้อยที่สุดที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน)  ดังนั้น Common Holdings Scoreของทั้ง 2 กองทุน = 10% + 20% + 15% = 45% หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆว่า “กองทั้งสองลงทุนในหุ้นเหมือนกันคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 45% นั่นเอง” จากข้อสังเกตจะเห็นได้ว่าคะแนนความเหมือนของกองทุนที่ต้องการจะเปรียบเทียบจะสูงขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังนี้

1. ถ้าทั้ง 2 กองทุนมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมือนกันหลายตัว เช่น ในหุ้นที่เหมือนกัน

2. ถ้าทั้ง 2 กองทุนลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมือนกันโดยมีน้ำหนักที่ลงทุนเป็นสัดส่วนที่สูง 

หลังจากที่เราเข้าใจหลักการคิดคร่าวๆแล้ว นักลงทุนอาจสงสัยว่า CHS สามารถบอกอะไรเราได้บ้าง แล้วมีประโยชน์อย่างไร อยากให้นักลงทุนลองนึกภาพตามผมนะครับ สมมุติเราได้ลงทุนซื้อกองทุนหุ้นซัก 2 กอง อาจจะเป็นเรื่องง่ายที่เราจะติดตามว่ากองทุนที่ซื้อลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง มีการกระจายตัวหรือกระจุกตัว อยู่ใน Sector ใด หรือหุ้นตัวไหนเป็นพิเศษ หรือพูดง่ายๆว่าเรารู้ว่าทั้ง 2 กองทุนที่ลงทุนเหมือนกันหรือต่างกันมากน้อยเพียงใด ถ้าเราลงทุนซื้อกองทุนตั้งแต่ 5 กองขึ้นไป คงเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ว่าในพอร์ตกองทุนของเราที่มีกองทุนทั้ง 5 กองนั้นลงทุนเหมือนกันมากน้อยแค่ไหน เราอาจจะซื้อกองที่ถือหุ้นเหมือนๆกัน รวมเป็นน้ำหนักที่ค่อนข้างมากต่อหุ้นหนึ่งตัว ตรงนี้แหละครับที่ CHS จะบอกเราได้ว่าทั้ง 5 กองทุนที่เราถือมีคะแนนเหมือนกันมากน้อยเท่าใด หรือในอีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่าท่านอยากซื้อกองทุนที่ลงทุนใกล้เคียงกันมากๆ หรือ เรียกได้ว่าเป็นฝาแฝดกันเลยทีเดียว เจ้า CHS นี่แหละครับที่จะมาช่วยเรา เราแค่เลือกกองทุนที่มี CHS อยู่ในช่วงคะแนนเหมือนกันมากๆ เช่น 0.8 ถึง 1.0 ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเราจะได้กองทุนที่เหมือนกันมากๆ หลังจากนั้นเราก็ไปลองดูข้อมูลอื่นประกอบ เช่น ผลตอบแทน ความเสี่ยง หรือ ค่าใช้จ่ายกอง เป็นต้น แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ก็จะช่วยให้เราเลือกกองทุนได้ดียิ่งขึ้นครับ

ปัจจุบันในเวปไซด์ Morningstar นั้นยังไม่ได้เปิดให้ใช้เครื่องมือ CHS ให้สำหรับนักลงทุนทั่วไป มีให้ใช้เฉพาะนักลงทุนสถาบันเท่านั้น โดยในฉบับหน้าผมจะมาทำการวิเคราะห์ CHS กับข้อมูลจริง โดยใช้กองทุนในประเภท Equity Mid and Small Cap เป็นตัวอย่างนะครับ

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar