กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) คืออะไร มีลักษณะสำคัญอะไรบ้าง มาทำความรู้จักกันค่ะ

Morningstar 23/11/2561
Facebook Twitter LinkedIn

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดงานสัมมนาโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยในหัวข้อ “ระบบการออมเพื่อการเกษียณรองรับสังคมผู้สูงอายุ” และมีข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ทางมอร์นิ่งสตาร์จึงได้นำข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอค่ะ

กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. คือกองทุนภาคบังคับที่ส่งเสริมการออมของคนทำงานทั่วประเทศเพื่อให้มีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ ซึ่งจะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชนซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจ แต่ด้วยการที่เป็นกองทุนภาคสมัครใจนี้ ทำให้จำนวนผู้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวนน้อย หรือราว 3 ล้านคนจากแรงงานในระบบราว 17 ล้านคน

ทำไมจึงต้องมีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ?

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลได้แก่ 1) แรงงานเกินกว่าครึ่งในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญและ 2) แรงงานในระบบก็มีการออมเงินที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้สูงวัยในบ้านเราจะมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ โดยประเทศไทยมีอัตราการออมเงินบำเหน็จบำนาญที่ประมาณ 7.1% ของ GDP ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศนอกกลุ่ม OECD (OECD : Organization for Economic Co-operation and Development) ที่ 19.7% ของ GDP หรือค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่ 50.7% ของ GDP ดังนั้นกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินี้อาจเป็นความหวังที่ช่วยบรรเทาความกังวลเรื่องภาระทางการคลังในอนาคตได้

กบช. ต่างกับ กอช. อย่างไร

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) กับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คือ กบช. เป็นกองทุนภาคบังคับมีไว้เพื่อให้ลูกจ้างในระบบที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่ กอช. มีไว้เพื่อเป็นกองทุนบำนาญสำหรับผู้มีอาชีพอิสระหรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กองทุนที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้างดังเช่นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการส่งเงินเข้ากองทุน กบช. นี้จะเป็นการส่งเงินเข้าโดยนายจ้างและลูกจ้างเอกชน ซึ่งต่างจาก กอช. คือสมาชิกส่งเงินเข้ากองทุนและรัฐบาลจะเป็นผู้ส่งเงินสมทบ

ลักษณะสำคัญของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เป็นกองทุนภาคบังคับที่มีลักษณะเดียวกันกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แต่จะเป็นกองทุนสำหรับผู้มีงานทำอายุ 15-60 ปีในกลุ่มดังต่อไปนี้ ได้แก่ ลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน ซึ่งการบังคับออมของ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับนายจ้างและลูกจ้างเอกชนที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การบริหารเงินกองทุนและแผนการลงทุน

หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วใครจะมาบริหารเงินกองทุน ซึ่งมีการกำหนดว่าทางคณะกรรมการ กบช. จะมีการกำหนดนโยบายการลงทุนและคัดเลือกผู้บริหารจัดการเงินกองทุน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะคัดเลือก บลจ. จำนวน 3 รายมาเป็นผู้บริหารกองทุน และจะมีแผนการลงทุนให้สมาชิกเลือก อย่างไรก็ตามมีการกำหนดแบบ Default policy ให้ด้วย ซึ่งจะเป็นการกำหนดการลงทุนให้เหมาะกับช่วงอายุ (Life Path) เช่น ผู้มีอายุน้อยหรือยังมีเวลาออมเงินนานกว่าอาจจะสามารถรับความเสี่ยงกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่าเป็นต้น

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ภาครัฐได้สนับสนุนการออมเงินโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการส่งเงินเข้ากองทุน กบช. นี้ โดยผู้เป็นสมาชิกกองทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสะสมและเงินสมทบ เงินผลประโยชน์ รวมทั้งเงินที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุ

สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินี้ ยังอยู่ในสถานะของร่าง พ.ร.บ. ที่รอเข้าเสนอในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และหลังจากออกกฎหมายไปแล้ว 1 ปีจึงจะประกาศบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างได้ปรับตัวและเตรียมความพร้อมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมาย โดยทางมอร์นิ่งสตาร์จะมาพูดถึงรายละเอียดที่ควรทราบเกี่ยวกับ พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติในด้านการส่งเงินเข้ากองทุน ทำความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือประเด็นข้อสงสัยอื่นๆ ในโอกาสหน้านะคะ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, OECD Global Pension Statistics, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กองทุนการออมแห่งชาติ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar