สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2019 (1)

ภาพรวมไตรมาส 3 แม้จะมีปัจจัยลบ แต่มูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมยังเติบโตและมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 9 เดือน 8.3 หมื่นล้านบาท

Morningstar 11/10/2562
Facebook Twitter LinkedIn

ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเป็นยังคงมีปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวม ซึ่งในปีนี้มีการพูดถึงความกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกันมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อและการเจรจาที่ยังไม่ส่งผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารกลางสหรัฐจึงมีการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับจากวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2008 ปัจจัยภายนอกเริ่มส่งผลกระทบกับประเทศไทยจากมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ทาง สศช. ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีลดลงจากเติบโตทั้งปี 3.3%-3.8% เป็น 2.7%-3.2% ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางขาลงช่วงเดือนกรกฎาคมก่อนจะทรงตัวในกรอบ 1,600-1,670 จุดและปิดเดือนกันยายนที่ 1,637.22 จุด ผลตอบแทน SET TR รอบ 9 เดือน +7.6%

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปิดที่ 5.3 ล้านล้านบาท ปรับตัวขึ้น 4.5% จากสิ้นปี 2018 โดยในไตรมาสที่ 3 มีเงินไหลออกสุทธิ -1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ในรอบ 9 เดือนแรกของปีมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 8.3 หมื่นล้านบาท กองทุนรวมตราสารหนี้ยังคงเป็นประเภทสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 9 เดือนที่ราว 3.7 หมื่นล้านบาท กองทุนรวมตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.9 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ทองคำ หรือน้ำมันมีเงินไหลและกองทุนรวมตลาดเงินมีเงินไหลออกสุทธิที่ -1.7 พันล้านบาทและ -189 ล้านบาท ตามลำดับ

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากสิ้นปี 2018 (แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายนเล็กน้อยราว -1.0%) โดยทุกประเภททรัพย์สินยังคงมีอัตราการเติบโตเป็นบวก
กองทุนประเภทสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเช่น กองทุนรวมตราสารหนี้และตราสารตลาดเงินมีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินค่อนข้างต่ำจากสิ้นปี 2018 ที่ 3.5% และ 0.9% ตามลำดับ ในขณะที่กองทุนผสมและกองทุนตราสารทุนยังเติบโตได้ดีที่ 10.4% และ 7.9% จากปี 2018 อย่างไรก็ส่วนแบ่งตลาดของแต่ละประเภททรัพย์สินยังไม่ต่างจากเดิม โดยกองทุนรวมตราสารหนี้มีสัดส่วนสูงสุด 46.2% ตามมาด้วยกองทุนรวมตราสารทุน 28.6% และกองทุนตราสารตลาดเงิน 14.1%

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทยแบ่งตามประเภททรัพย์สิน

1 THA Q3 19 TNA by asset

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2019 (ข้อมูลเฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infra)

ปริมาณเงินไหลเข้า-ออกของกองทุน

ในไตรมาส 3 นี้มีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนรวมราว -1.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้เป็นหลักหรือราว -9.0 หมื่นล้านบาทซึ่งต่างจาก 2 ไตรมาสแรกของปีที่เป็นเงินไหลเข้าค่อนข้างสูง ทั้งนี้ทิศทางเงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้มาจากกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term เป็นหลักราว -1.7 แสนล้านบาทซึ่งเกิดจากกองทุนปิดตามอายุกองทุน ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้กลุ่มอื่นยังมีทิศทางเป็นเงินไหลเข้าสุทธิเช่น Bond Fix Term, Mid/Long Term Bond เป็นต้น

สำหรับกองทุนรวมตราสารทุนในไตรมาสที่ 3 นี้ถือเป็นไตรมาสแรกของปีที่มีเงินไหลเข้าซึ่งเกิดจากกองทุนที่ลงทุนเกี่ยวกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือ Property – Indirect Global และ Property Indirect ที่ถือได้ว่าเป็นที่นิยมค่อนข้างมากในปีนี้ รวมทั้งมีการชะลอการขายหน่วยลงทุนและแรงซื้อจากกองทุนประหยัดภาษี โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท

มูลค่าเงินไหลเข้า-ออกสุทธิแบ่งตามประเภททรัพย์สิน

2 THA Q3 19 Net flow by asset

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2019

กองทุนเปิดใหม่

ในไตรมาสที่ 3 มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 181 กอง รวมเป็นกองทุนเปิดใหม่ในปีนี้ 509 กองทุน ในจำนวนนี้เป็นกองทุนประเภท Term fund 352 กอง (ตราสารทุนและตราสารหนี้) กลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term เป็นกลุ่มที่มีกองทุนตราสารหนี้ที่มีกองเปิดใหม่มากที่สุดถึง 284 กองทุน ในขณะที่กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) เป็นกลุ่มที่มีกองทุนเปิดใหม่ 15 กองซึ่งสูงสุดสำหรับกองทุนประเภทตราสารทุน ทำให้ในปัจจุบันมีกองทุนหุ้นขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 265 กอง
สำหรับกองทุนเปิดใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปีนี้ (ไม่รวมกองทุน Term fund) ยังคงเป็นกองทุนเปิด ธนชาต มัลติ อินคัม (T-MultiIncome) โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้เป็นกองทุนผสมกลุ่ม Moderate Allocation

ในปีนี้มีจำนวนกองทุนตราสารหนี้เปิดใหม่แล้วทั้งสิ้น 360 กองทุน มากกว่าจำนวนกองตราสารหนี้เปิดใหม่ทั้งปี 2018 ที่ 326 กอง จำนวนกองเปิดใหม่ที่สูงเช่นนี้อาจมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ 1) กองทุนเปิดใหม่ที่เป็น Term fund เพื่อรองรับเงินลงทุนจากกองทุนเดิมที่หมดอายุโครงการ หรือ 2) เป็นการเปิดกองทุนก่อนจะมีการจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากหากดูที่จำนวนการเปิดกองทุนย้อนหลังไปในปี 2017 จะพบว่ามีจำนวนกองทุนเปิดใหม่มากถึง 406 กอง และชะลอตัวลงในปี 2018 และมีกองเปิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกในช่วงก่อนเดือนสิงหาคมปี 2019 นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนพบว่าการเปิดกองทุนตราสารหนี้ใหม่มีการชะลอตัวลง โดยในเดือนกันยายนมีกองทุนตราสารหนี้เปิดใหม่ทั้งสิ้น 28 กองทุน ซึ่งเป็นเดือนที่มีกองทุนตราสารหนี้เปิดใหม่น้อยที่สุดในรอบ 9 เดือนแรกของปี

จำนวนกองทุนตราสารหนี้เปิดใหม่

3 THA Q3 19 New FI funds

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2019

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category 

กลุ่มกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุด 10 กลุ่มแรกนั้นมีทั้งกลุ่มที่มูลค่าทรัพย์สินเติบโตสูงไปจนถึงหดตัว โดยกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของกองทุนรวมตราสารทุนคือกลุ่ม Property - Indirect Global มูลค่าทรัพย์สิน 1.1 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 66.3% จากเดือนกันยายน 2018 (%yoy) ทางด้านกองทุนรวมตราสารหนี้กลุ่ม Mid/Long Term Bond เป็นกลุ่มที่มีการเติบโต 27.2% เป็น 1.9 แสนล้านบาทซึ่งทั้งสองกลุ่มมีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาส 3 ติด 5 อันดับแรก
กลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.6 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 19.8% yoy แต่ลดลง -23.6% QoQ เนื่องด้วยมีจำนวนกองทุนเปิดใหม่ลดลงและมีกองทุนปิด 109 กองทุน
กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ในไตรมาสนี้มีมูลค่าทรัพย์สินเกือบ 7 แสนล้านบาท ลดลด -0.4% yoy โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณเงินไหลออกค่อนข้างมากในครึ่งปีแรกและในไตรมาสที่ 3 มีเงินไหลเข้าสุทธิไม่สูงนักหรือราว 5.1 พันล้านบาท กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง -10.4% yoy ไปที่ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากเงินไหลออกสุทธิเกือบทุกเดือนในปีนี้ยกเว้นเดือนสิงหาคม

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category

4 THA Q3 19 TNA by catgories

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2019

10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด

ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวมไทย 8.3 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 16 กลุ่มและเงินไหลออกสุทธิ 26 กลุ่ม กลุ่ม Mid/Long Term Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดรวม 9 เดือนเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าสุทธิจากไตรมาส 3 มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท กองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงได้แก่ TMB Aggregate Bond 3.1 หมื่นล้านบาท และ Krungsri Active Fixed Income 1.5 หมื่นล้านบาท

กลุ่ม Aggressive Allocation เป็นกลุ่มกองทุนผสมที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดรอบ 9 เดือน 4.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าสุทธิตลอด 3 ไตรมาส อย่างไรก็ตามเงินไหลเข้าสุทธิส่วนใหญ่เกิดจากกองทุนจาก บลจ. ไทยพาณิชย์คือกอง SCB Income Plus และ SCB Multi Income Plus A รวมเงินไหลเข้าสุทธิ 2 กองนี้ 5.0 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กองทุนอื่นในกลุ่มไม่ได้มีปริมาณเงินไหลเข้า-ออกที่มีนัยสำคัญ

กลุ่ม Property - Indirect Global เป็นกลุ่มกองทุนตราสารทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดรอบ 9 เดือน 3.0 หมื่นล้านบาท โดยในกองทุนจำนวน 34 กองของกลุ่มนี้มีจำนวน 23 กองทุนที่เป็นเงินไหลเข้า โดย บลจ. ที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดได้แก่ บลจ. กสิกรไทย 1.9 หมื่นล้านบาทและบลจ. พรินซิเพิล 1.2 หมื่นล้านบาท
ทางด้านเงินไหลออกสุทธิมีกลุ่ม Short Term Bond ที่เคยมีเงินไหลออกสูงถึง -3.8 หมื่นล้านช่วงไตรมาสแรก แต่ในไตรมาส 3 มีเงินเข้าสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออกสุทธิ -4.3 พันล้านบาท กองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดสำหรับกลุ่มนี้คือ TMB Ultra - Short Bond 2.9 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของกองทุนหุ้นต่างประเทศที่เป็นการลงทุนรายประเทศหรือภูมิภาคนั้น (ไม่รวมกองทุนกลุ่มอุตสาหกรรม) พบว่ามีเพียงกลุ่ม Global Equity ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

กองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap ยังคงติดอันดับกลุ่มที่มีเงินไหลออกสูงสุด รวม 9 เดือน -2.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเกิดจากเงินไหลออกสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกในปริมาณมาก และมีเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาส 3 ที่ไม่สูงนักราว 5.1 พันล้านบาท รวมทั้งในปีนี้กระแสเงินลงทุน LTF ที่ในปีนี้นักลงทุนกลับเข้าซื้อกองทุนช้ากว่าปีก่อน

10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุดรอบเดือน ม.ค. ถึง ก.ย. 2019

5 THA Q3 19 Net flow by categories

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2019

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar