ทิศทางเงินลงทุนในรอบ 7 เดือนแรก

ข้อมูลเม็ดเงินล่าสุดพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการลงทุน และเลือกที่จะลงทุนตราสารทุนต่างประเทศมากกว่าในประเทศ

Morningstar 27/08/2563
Facebook Twitter LinkedIn

แม้จะเริ่มมีกระแสข่าวการพัฒนาวัคซีนสำหรับ covid-19 แต่อาจยังมีความน่ากังวลที่ในหลายประเทศกลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมากขึ้น รวมทั้งในสหรัฐฯ บราซิล อินเดีย ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายวันระดับหมื่นคน รวมผู้ติดเชื้อทั่วโลกปัจจุบันมากกว่า 23 ล้านคน ทำให้ภาพการลงทุนยังขาดปัจจัยบวกที่ชัดเจน หากมาดูที่เม็ดเงินลงทุนจะพบว่านักลงทุนยังคงมีความระมัดระวังอยู่ โดยรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้มีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนรวมไทยทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท กองทุนรวมตราสารตลาดเงินยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิเดือนกรกฎาคมรวม 2.6 หมื่นล้านบาท รวม 7 เดือนแรกมีเงินไหลเข้ากองทุนประเภทนี้รวมสูงกว่า 2.0 แสนล้านบาท 

2020 08 27 17 21 44 net flow 7 mth

กองทุนประเภทตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิเดือนกรกฎาคมเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารทุนต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยยังเป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ปรับตัวลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงทำให้ผลตอบแทนการลงทุนหุ้นไทยอาจยังต่ำกว่าหลายประเทศ จากภาพด้านล่างจะเห็นว่าในหลายตลาดยังมีผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปีติดลบ ในขณะที่ประเทศจีน สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปบางส่วนมีผลตอบแทนที่ดีกว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2020)

2020 08 25 14 49 33 YTD as of 25 Aug 20

ด้านเม็ดเงินกองทุน SSF ดูจะยังไม่มีเม็ดเงินลงทุนมากนักจากปริมาณเงินไหลเข้ากองทุน SSF ที่เป็นหุ้นไทยค่อนข้างต่ำ ทำให้กองทุนหุ้นไทยกลุ่ม Equity Large-Cap ยังมีเม็ดเงินไหลออกสุทธิที่ 5.8 พันล้านบาทในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งมากกว่ากลุ่มกองทุนตราสารทุนกลุ่มอื่น

สำหรับกองทุนรวมกลุ่ม China Equity และกลุ่ม Global Equity เป็นกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.2 หมื่นล้านบาทและ 9.6 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ มีเม็ดเงินส่วนใหญ่จากกองทุนที่เปิดใหม่ในปีนี้ ซึ่งเป็นกองทุนจาก บลจ. ธนชาตและบลจ. ทหารไทยเป็นหลัก ด้านกลุ่ม Global Technology ถือเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนโดดเด่นในปีนี้หรือเฉลี่ยที่ราว 37% (ผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปี) กองทุนกลุ่มนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิเดือนกรกฎาคมรวมเกือบ 5 พันล้านบาท รวม 7 เดือนที่เกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท

ทางด้านกองทุนรวมตราสารหนี้ยังมีเงินไหลออกสุทธิในเดือนกรกฎาคมที่ 4.7 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเบาบางลงเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้สูงสุดในกลุ่ม Flexible Bond รวม 1.5 หมื่นล้านบาท (กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ไทยในสัดส่วน 25%-75%) เป็นเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ด้านกลุ่ม Global Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7 เดือน 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงสุดสำหรับประเภทกองทุนตราสารหนี้

กลุ่มกองทุนประเภท Commodities ที่ประกอบไปด้วยกองทุนทองคำหรือกองทุนน้ำมันมีเงินไหลออกสุทธิราว 6 พันล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินจากกองทุนทองคำเป็นหลักที่ระดับ 7 พันกว่าล้านบาท จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่มีเงินไหลออกจากกองทุนทองคำสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในอดีต

ด้านกองทุนผสมทุกกลุ่มมีเงินไหลออกสุทธิในเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 1-3 พันล้านบาท รวม 7 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดจากกลุ่ม Aggressive Allocation ที่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม Moderate Allocation มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสมรวม 8.4 พันล้านบาท

สถานการณ์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ถือเป็นช่วงที่มีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมาก จึงทำให้มีภาพทิศทางเงินลงทุนในแบบลดความเสี่ยงไปที่ตราสารเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตามหากปัจจัยลบต่าง ๆ มีแนวโน้มคลี่คลายลงก็อาจเป็นส่วนกระตุ้นให้สินทรัพย์เสี่ยงกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นได้ เพราะการลงทุนในตราสารที่เสี่ยงต่ำมาก ๆ ก็มีข้อจำกัดคือผลตอบแทนที่ต่ำ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์การลงทุนในระยะยาวของนักลงทุนหลายท่าน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar