7 บทเรียนจากปี 2020

ปี 2020 นับว่าเป็นปีที่ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวนอย่างมาก ทาง Morningstar จึงขอยกตัวอย่างประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้จากปีที่ผ่านมาให้ลองติดตามกันค่ะ

Morningstar 30/12/2563
Facebook Twitter LinkedIn

อย่ากลัวที่จะคุยเรื่องเงินทองหรือมรดก (Suzan Dziubinski, Content director)

สิ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทเรียนทางการเงินในปีที่ผ่านมานั่นก็คือ ควรหมั่นทบทวนแผนมรดกหรือแผนการเงินอยู่สม่ำเสมอ รวมถึงการสื่อสารหรือบอกต่อให้กับผู้รับมรดก เนื่องจากหลังเกิดการระบาดของ COVID19 หรือเหตุการณ์อื่นๆก็ตามย่อมอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เราควรทบทวนแผนมรดกหรือแผนทางการเงินอยู่เสมอเพื่อรองรับสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ยึดมั่นต่อหลักการหรือปัจจัยพื้นฐาน (Mike Coop, Head of Multi-Asset Portfolio Management)

วิกฤติที่เกิดขึ้นในปี 2020 นับว่าส่งผลรุนแรงกว่าเหตุการณ์อื่นๆในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดความเสี่ยงต่อชีวิต เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน และยังไม่สามารถรักษาได้ ขณะที่รัฐบาลต่างๆก็ไม่สามารถที่จะหาทางรับมือได้มากพอ ดังนั้น การรับมือกับความผันผวนของตลาดหุ้นในภาวะเช่นนี้ กลยุทธ์ที่ง่ายที่สุดที่ได้ผลก็คือ การทำ Portfolio rebalancing หรือการปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ โดยดูมูลค่าพื้นฐานที่เหมาะสมของหลักทรัพย์ และรอจังหวะที่ตลาดตื่นตกใจที่สุดเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ในราคาที่ถูก

ฝึกฝนในสิ่งที่ศึกษาหรือเรียนรู้มา (Alex Morozov, Director of Equity Research EMEA)

ความผันผวนอย่างมากของตลาดหุ้นในปีที่ผ่านมานั้น เกิดจากแรงขายของนักลงทุนที่ต้องการถือเงินสดเพื่อปกป้องเงินลงทุนของตัวเอง ซึ่งในยามที่ตลาดผันผวนอย่างมากในรอบนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้าลงทุนอย่างมาก แม้จะต้องอดทนต่อความกลัวต่อตลาดที่ผันผวน แต่ก็ดีกว่าที่จะพลาดโอกาสลงทุนในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นรอบใหญ่

อย่าโลภ (Syl Flood, Chief Content Strategist)

ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นอย่าง Amazon.com, Zoom, Tesla ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด แม้กระทั่งในช่วงเดือนมีนาคมที่ตลาดหุ้นปรับลงอย่างหนัก ราคาหุ้นกลุ่มนี้ก็ยังไม่ลดลง ทำให้บางครั้งดูเหมือนว่าหุ้นมีราคาที่แพงเกินมูลค่าพื้นฐานไปแล้ว และหากนักลงทุนได้ขายเพื่อทำกำไรในหุ้นกลุ่มนี้ออกไป ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการไปลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูกกว่าหรือเพื่อทำกำไรก็ตาม นั่นอาจเป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะการขึ้นอย่างต่อเนื่องของหุ้นเหล่านี้ อาจเป็นการสะท้อนต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหรือสะท้อนถึงกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ดังนั้นถ้าเป็นไปได้จงยึดมั่นว่าเพราะอะไรเราถึงเลือกลงทุนในบริษัทนั้นๆแล้วอยู่เฉยๆนั่งดูราคาหุ้นขึ้นต่อไปเถอะ

อย่าเป็น Mr.(หรือ Mrs.) Market (Jon Miller, Director of Manager Research Rating UK)

Benjamin Graham ได้ให้นิยามสำหรับนักลงทุนที่หวั่นไหว ตื่นตระหนกไปกับภาวะตลาดหุ้นว่าเป็น Mr. Market เนื่องจากเขาเหล่านี้มักจะซื้อขายไปตามอารมณ์และความผันผวนของตลาด โดยไม่มีภาพใหญ่หรือมุมมองการลงทุนระยะยาวเรย ทั้งที่ความจริง ตลาดหุ้นมักจะสะท้อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตเสมอ รวมทั้งผลประกอบการที่คาดว่าจะออกมาดีในอนาคต และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นก็มักจะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เป็นอยู่ ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ควรรอให้ทุกอย่างออกมาดีก่อนแล้วค่อยลงทุน

อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง (Holly Black, Editorial Manager, EMEA)

การลงทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ เช่น ทยอยซื้อหน่วยลงทุนเป็นประจำ โดยไม่ผลัดวันประกันพรุ่งและทำตามแผนการลงทุนที่เคยตั้งใจไว้แต่แรก และพยายามไม่หวั่นไหวไปกับตลาดหุ้นที่ผันผวนโดยการซื้อขายโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งในภาวะที่ตลาดหุ้นตกลงมามากๆ หากเราทำตามแผนการลงทุนโดยปกติที่ต้องมีการลงทุนเป็นประจำ การเข้าซื้อหน่วยลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวก็กลายเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้ของดีในราคาที่ถูกเข้ามาแทน

ให้ความสำคัญกับ ESG (Ian Tam, Senior Editor, Canada)

ที่ผ่านมาเรื่องของ ESG และการลงทุนอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ขณะที่นักลงทุนบุคคลทั่วไปก็เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะนี้ โดยเฉพาะเงินลงทุนของภาคธุรกิจก็เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หรือกองทุนที่เน้นการลงทุนอย่างยั่งยืนเช่นกัน อย่างไรก็ตามด้วยกองทุนที่มีหลากหลายจำนวนมาก นักลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรือ ESG เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการลงทุนที่แท้จริง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar