Global Thematic Funds (ตอนที่ 1)

กองทุน Thematic funds หรือกองทุนรวมที่เน้นลงทุนเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมเป็นที่นิยมอย่างมากจากนักลงทุน ทำให้มีกองทุนประเภทนี้เกิดขึ้นมาจำนวนมากและครอบคลุมไปหลากหลายธุรกิจ โดยในตอนแรกเราจะพูดถึงลักษณะกองทุน thematic และภาพรวมการลงทุนทั่วโลกกันค่ะ

Morningstar 28/06/2564
Facebook Twitter LinkedIn

ที่ผ่านมากองทุน Thematic funds หรือกองทุนรวมที่เน้นลงทุนเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมเป็นที่นิยมอย่างมากจากนักลงทุน ทำให้มีกองทุนประเภทนี้เกิดขึ้นมาจำนวนมากและครอบคลุมไปหลากหลายธุรกิจตั้งแต่ AI ไปจนถึงกัญชงกัญชา และหากจัดประเภทของกองทุนเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆคือ

1.Technological Themes เน้นลงทุนในธีมที่เกี่ยวกับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างเช่น Fintech, Robotics, Battery technology

2.Physical World Themes คือกลุ่มที่เน้นลงทุนเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด อาหาร Food tech รวมไปถึงเรื่อง Logistics เป็นต้น

3.Social Themes คือการลงทุนที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและประชากร เช่น สังคมสูงวัย กระแส Work from home หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

4.Broad Themes เป็นการลงทุนที่เอาหลายๆธีมมารวมกัน เช่น เรื่องของ Future trends, Global themes, Smart industries เป็นต้น

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้กองทุนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจนมีมูลค่ากว่า 5.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยหลักๆสัดส่วนกว่า 51%ของกองทุนเหล่านี้อยู่ในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนที่บริหาร Thematic funds และมีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าเงินลงทุนคือ Pictet Asset Management ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ Ark Financial และ BlackRock ตามลำดับ

สำหรับกองทุนที่เป็นที่นิยมของนักลงทุนในช่วงนี้คือกลุ่ม Energy transition theme ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของประธานาธิบดี Joe Biden ที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกลุ่ม Green energy นอกจากนี้ กองทุนที่เกี่ยวข้องกับ Technology อย่างเช่น Fintech และ Digital economy อย่าง E-commerce, Social media ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่มากเช่นกัน

global thematic

ในแง่ผลตอบแทนของ Thematic funds หากดูในช่วงหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พบว่าจำนวนกว่า 2 ใน 3 ของกองทุนประเภทนี้ทั้งหมดให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวม อย่างไรก็ตาม หากดูระยะยาวกลับมีเพียงไม่กี่กองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด เช่น ย้อนหลังไป 5 ปี พบว่ามีเพียง 43%ของจำนวนกองทุนทั้งหมดที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด และถ้าย้อนหลังไป 15 ปี จะเหลือเพียง 22%เท่านั้น

success rate

สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตของ Thematic funds สูงมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างดีทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าไปเป็นจำนวนมาก โดยในไตรมาสแรกของปีนี้มีเงินไหลเข้าสูงถึง 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าสินทรัพย์ของ Thematic funds ในปัจจุบันสูงถึง 160,000 ล้านเหรียญ   โดยสัดส่วนกว่า 60% ของตลาดยังเป็นกองทุนประเภท Passive แม้ว่าในปัจจุบันความนิยมของกองทุนใน ARK ซึ่งเป็น Active fund จะมีมากขึ้นและทำให้เงินทุนส่วนหนึ่งเริ่มออกจากกลุ่ม Passive ก็ตาม ทั้งนี้ กอง ARK Innovation ETF เป็นกอง Thematic ETF ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการสูงถึง 22,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย ARK เน้นการลงทุนในกลุ่ม Technology themes อย่างเช่น Genomics, Fintech และ NextGen

largest

ยุโรป ครองส่วนแบ่งตลาดของกอง Thematic funds มากที่สุด โดยมีกว่า 400 กองทุนและมีมูลค่าสินทรัพย์รวมสูงกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนแบบ Active ทั้งนี้ กองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบ Broad thematic เป็นที่นิยมอย่างมาก ส่งผลให้กอง Pictet Global Megatrend Selection fund เป็นกองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป  นอกจากนี้ กองทุนที่เน้นลงทุนเกี่ยวกับ ESG และ Alternative energy ก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน

นอกจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว กอง Thematic funds ที่มีอยู่ในประเทศอื่นๆโดยรวมแล้วมีมูลค่ามากถึง 128,000 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นมีมูลค่ากองทุนประเภทนี้สูงถึง 56,000 ล้านเหรียญ และที่เป็นที่นิยมอย่างมากคือกลุ่ม Technology funds อย่างเช่น Goldman Sachs netWIN Technology Equity fund ซึ่งเน้นลงทุนในกระแส Digital economy เป็นต้น หรืออย่างประเทศจีนก็มีมูลค่าในตลาดกองทุนประเภทนี้สูงมากเช่นกัน หรือประมาณ 49,000 ล้านเหรียญ ซึ่งที่นิยมอย่างมากในจีนคือกลุ่ม Robotics & Automation, NextGen และ Energy transition

RoW

หลังจากได้เห็นเทรนด์การเติบโตของกองทุน Thematic ทั่วโลกกันไปแล้ว สัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อว่าการลงทุนกองทุนประเภทนี้จะต้องพิจารณาปัจจัยใดก่อนการลงทุนกันบ้าง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar