สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 3 ปี 2559

นักลงทุนยังคงให้ความสนใจลงทุนกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง เงินไหลเข้าอีกกว่า 118,871 ล้านบาท กองทุนตราสารหนี้และกองทุนผสมได้รับความนิยมสูงสุด

Facebook Twitter LinkedIn

          ปิดไตรมาส 3 เงินไหลเข้ากองทุนรวมสุทธิกว่า 118,871 ล้านบาท ส่งผลให้สิ้นสุดไตรมาส 3 กองทุนรวมโต 12.70% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.58 ล้านล้านบาท

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

กองทุนรวมยังคงเป็นอีกหนึ่งทางในการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 3 นี้มีเงินไหลเข้าอีกกว่า 118,871 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเม็ดเงินจะไหลเข้าน้อยกว่าทั้งไตรมาส 1 (155,014 ล้านบาท) และ 2 (159,822 ล้านบาท) ก็ตาม ส่งผลให้ทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิแล้ว 433,707 ล้านบาท โดยที่อตุสาหกรรมโดยรวมโตทั้งสิ้น 12.70% นับจากสิ้นปีที่แล้ว

ซึ่งในส่วนของประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนนั้นมีความลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยที่ในไตรมาส 3 กองทุนประเภท Foreign Investment Bond Fix Term และ Short Term Bond นั้น ได้รับควานิยมสูงสุดเข้ามาแทนที่กลุ่ม Global High Yield Bond Fix Term และ Mid/Long Term Bond โดยที่ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวกลับกลายเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดในไตรมาส 3 นี้ ทั้งนี้ในส่วนของสาเหตุนั้นน่าจะมาจากความน่าสนใจของผลตอบแทนที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาและประกอบกับกลุ่ม  Global High Yield Bond Fix Term ที่มีกองทุนครบกำหนดอายุเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ในขณะที่ บลจ. ไม่สามารถหากองทุนออกรับช่วงต่อเนื่องได้ทัน

และหากมองไปยัง 5 อันดับกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในไตรมาส 3 นี้จะสังเกตได้ว่าทั้งหมดเป็นกลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางทั้งสิ้นซึ่งนั้นสื่อให้เห็นว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก และในขณะที่กลุ่มที่มีเงินไหลออกนั้นมีถึง 3 กลุ่มที่เป็นกลุ่มกองทุนหุ้นต่างประเทศ

FlowQ3

โดยจุดที่น่าสังเกตเพิ่มเติมก็คือ ความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตลอดทั้งปีของ กลุ่มกองทุนรวมผสมทั้งที่ลงทุนในประเทศ (Aggressive Allocation) และ ลงทุนในต่างประเทศ (Global Allocation) โดยที่ทั้งปี 2559 นี้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 42,129 ล้านบาท และ 45,295 ล้านบาท ตามลำดับ  

ส่วนการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่นับรวมประเภท Term Fund) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องโดยในไตรมาส 3 นี้มีกองทุนเปิดใหม่อีก 12 กองทุน และมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 27,374 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งสิ้น 388,936 ล้านบาท โตจากปลายปีที่แล้ว 4.03% และในส่วนของสัดส่วนของประเภทสินทรัพย์ของกองทุนในกลุ่มนี้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้นั้นมี market share เพิ่มขึ้นจาก 5.81% เป็น 11.37% ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มตราสารทุนนั้นลดลงจาก 56.27% เหลือ 50.44% ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนเริ่มลดความเสี่ยงในการลงทุนในช่วงไตรมาส 3 นี้

AssetMix

ซึ่งเม็ดเงินที่ไหลเข้าสุทธิของกองทุนในกลุ่ม กองทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้ยังคงไหลไปยังกลุ่ม Global Allocation เป็นหลัก ตามมาด้วย กลุ่ม Global Bond ที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 149,500  ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 40% ของกลุ่มนี้ ขณะที่กลุ่มหุ้นต่างประเทศทั้ง Europe Equity Japan Equity และ Asia Pacific ex-Japan Equity นั้นล้วนแต่มีเงินไหลออกทั้งสิ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการขายทำกำไรเนื่องจากในช่วงไตรมาส 3 นี้ กลุ่มกองทุนดังกล่าวทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี

InOutFlow

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) นั้นในภาพรวมถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ลดลงจากไตรมาสที่ 2 เล็กน้อยเนื่องจากแรงขายทำกำไรจากผู้ลงทุนในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ทั้งปี 2559 นี้ยังโตอยู่ที่ 6.50% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 168,777 ล้านบาท ในส่วนของเม็ดเงินไหลเข้าออกกองทุนในกลุ่มนี้นั้นที่ตลอด 9 เดือนแรกนี้มีเงินไหลออกสุทธิที่ -11,353 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินที่ไหลออกมาจากการขายในกลุ่มของกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ Equity Large-Cap ทั้งสิ้น -15,824 ล้านบาท ขณะที่ กลุ่มหุ้นเล็กและกลาง Equity Small/Mid Cap นั้นมีเงินไหลเข้าสุทธิ 4,471 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มดังนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3-4 ปีหลังที่ผ่านมานี้

สำหรับกองทุนประเภท Trigger fund ไตรมาส 3 นี้มีออกเพิ่มอีกเพียง 5 กองทุน ทำยอด IPO รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท ทำให้ยอดรวมทั้งหมดปี 2559 นี้มีกองทุน Trigger Fund ออกมาทั้งสิ้น 18 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินราว 5,300 ล้านบาท และมีกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนถึงเป้าหมายแล้วทั้งสิ้น 7 กองทุน

ทั้งนี้โดยในภาพรวมของกองทุน Trigger Fund นับตั้งแต่มีการเปิดออกสู่ตลาดตั้งแต่มี 2550 เป็นต้นมา มีกองทุน Trigger Fund เปิดมาแล้วทั้งสิ้น 478 กองทุน ทำยอดเงินรวมได้สูงถึงกว่า 166,600 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย 295 กองทุน (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 110,000 ล้านบาท) และกองทุนที่ไม่ถึงเป้าหมาย 59 กองทุน (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 18,500 ล้านบาท) โดยยังมีกองที้ยังเปิดดำเนินการอยู่อีก 124 กองทุน (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 38,100 ล้านบาท)

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ไตรมาส 3 นี้ ตลาดการลงทุนทั่วโลกยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่องซึ่งก็รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของผลตอบแทนนั้นก็ต้องถือว่าเป็นไตรมาสในการลงทุนที่ไม่เลวเลยทีเดียวเนื่องจากผลตอบแทนเฉลี่ยในไตรมาส 3 นี้เกือบทุกกลุ่มกองทุนสามารถทำได้เป็นบวกเกือบทั้งสิ้นเว้นเพียงแต่กลุ่มกองทุนทองคำ (Commodities Precious Metals, -0.46%) และน้ำมัน (Commodities Energy, -4.49%) เท่านั้นที่ติดลบ

และดูเหมือนว่ากลุ่มกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีในไตรมาส 3 นี้จะเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทสทั้งสิ้นนำมาโดยกองทุนกลุ่ม China Equity กลุ่ม Emerging Market Equity และ กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยในไตรมาส 3 นี้ได้สูงถึง 8.99%, 6.64% และ 6.40% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มหุ้นไทยทั้งกลุ่ม Equity Large Cap และ Equity Small/Mid Cap ก็ยังทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่องโดยสามารถทำได้เฉลี่ย 3.65% และ 1.35% ตามลำดับ

ทั้งนี้หากมองภาพรวมใน 9 เดือนแรกที่ผ่านมานี้ กลุ่มกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดยังคงเป็น 2 กลุ่มเดิมได้แก่ กลุ่ม Property Indirect ที่เฉลี่ย 22.12% และ กลุ่ม Commodities Precious Metals ที่เฉลี่ย 20.19% ในขณะที่กลุ่มที่ติดลบสูงสุดนั้นได้แก่ กลุ่ม Japan Equity และ กลุ่ม Healthcare โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ย -11.43% และ      -9.14% ตามลำดับ

ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นโดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศอย่าง กลุ่มMoney Market กลุ่ม Short Term Bond และ กลุ่ม Mid/Long Term Bond นั้นปีดูว่าผลตอบแทนลดลงไปมากพอสมควรจากในอดีต โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 0.80%, 1.19% และ 1.87% ตามลำดับ แต่การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม Emerging Market Bond นั้นยังคงโดดเด่นอย่างมากโดยทำผลตอบแทนเฉลี่ย 9 เดือนแรกนี้ได้ 10.56% แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่ากลุ่มนี้มีความผันผวนสูง ซึ่งผู้ลงทุนควรศึกษาในส่วนของพอร์ตโฟลิการลงทุนให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนเช่นเดียวกัน

CatReturn

ปิดท้ายกันเช่นเคยที่กองทุน LTF และ RMF ที่ผ่าน 9เดือนแรกของปี 2559 นี้โดยยังโตอย่างต่อเนื่องทั้งที่เพิ่งเริ่มจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเดือนเดียวของปีนี้คือ ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง แต่อย่างไรก็ตามในภาพกว้างมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนทั้ง 2 ประเภทยังคงโตอยู่ โดยกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 298,167 ล้านบาท แต่โตขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 7.52% ขณะที่ RMF โตมากกว่าที่ 8.59% ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาอยู่ที่ 194,606 ล้านบาท

ในส่วนของเม็ดเงินสุทธิที่ไหลเข้าออกกองทุนทั้ง 2 ประเภทนั้นต้องบอกว่าเริ่มเห็นการกลับเข้ามาลงทุนอย่างชัดเจนของนักลงทุนในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เองเป็นเดือนแรก (LTF มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3,317 ล้านบาท ขณะที่ RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1,610 ล้านบาท) หลังจากที่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีแต่ยอดขายสุทธิมาโดยตลอด ส่งผลให้ยอดทั้งปี LTF มียอดเงินไหลออกสุทธิกว่า -14,920 ล้านบาท (สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ตลอดกาลรองจากปี 2555) ส่วน RMF ไหลออกสุทธิเพียงเล็กน้อย -437 ล้านบาท  

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในอดีตนั้นบ่งชี้ให้เห็นว่าช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ผู้ลงทุนนิยมลงทุนในกองทุนทั้ง LTF และ RMF นั้นคือ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งคาดว่าพฤติกรรมการลงทุนเช่นนี้ก็ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้ดังนั้นคาดว่าในช่วงท้ายของปีนี้เราคงได้เห็นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนทั้ง 2 ประเภทอย่างมากอีกเช่นเคย ประกอบกับที่ในปีนี้บลจ. สามารถออกกองทุน LTF กองใหม่ได้ซึ่งก็คาดว่าน่าจะพอช่วยกระตุ้นยอดเงินลงทุนในส่วนของ LTF ได้พอสมควร แต่อาจจะไม่พอที่จะช่วยให้เม็ดเงินไหลเข้าสุทธิตลอดทั้งปีนี้สูงไปกว่าเมื่อปี 2558 เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากเกณฑ์การลงทุนใหม่ของ LTF ที่ยาวมากขึ้นเป็น 7 ปีปฎิทินซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ลงทุนบางส่วน

LTFRMF

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst