5 ข้อผิดพลาดในการลงทุนที่คุณอาจไม่รู้

หลักการพื้นฐานง่ายๆ 5 ข้อ ที่จะช่วยให้นักลงทุนรู้และเข้าใจถึงข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการลงทุน

Facebook Twitter LinkedIn

“การลงทุน” โดยทั่วไปเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ามีความเสี่ยง การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนในแต่ละครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดในการลงทุนโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดมาจากสาเหตุใด หรือบางครั้งนักลงทุนบางคนอาจมีความเข้าใจที่บิดเบือนเกี่ยวกับการลงทุน สำหรับบทความนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์อยากให้นักลงทุนได้ลองทำความเข้าใจถึงหลักการพื้นฐานซึ่งหลายคนอาจมองข้ามจนทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ 

1. ความวิตกกังวลต่อสภาวะตลาด

ความกังวลของนักลงทุนจะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะของตลาดการเงินอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงอย่างมาก เช่น ครั้งหนึ่งตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เมื่อดัชนีของ SET ร่วงลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่า 500 จุด ในตอนนั้นเองนักลงทุนหลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่าสภาวะตลาดขาลงเช่นนี้จะใช้เวลาต่อไปอีกนานเท่าใด หรือตลาดจะเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือเกิดจุดกลับตัว (Turning Point) ในตอนไหน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะกลับเข้ามาลงทุนในสภาวะที่ตลาดหุ้นอยู่ในขาลงแบบนี้ กลับกันในกรณีที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้นเมื่อตอนต้นปี 2556 ที่ผ่านมา ตอนนั้นเองตลาดหุ้นของไทยคึกคักเป็นอย่างมาก ดัชนี SET สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ (New high) ในรอบเกือบ 20 ปี แต่คำถามที่ตามมาคือ ตลาดหุ้นขาขึ้นแบบนี้นักลงทุนควรขายหุ้นในพอร์ตเพื่อทำกำไรและหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นแทนหรือไม่ จากตัวอย่างของสภาวะตลาดหุ้นทั้ง 2 กรณีนั้น หากมองย้อนกลับไป คำถามเหล่านี้นักลงทุนคงจะหาคำตอบได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนมีโอกาสสูงที่จะตัดสินใจผิดพลาดจากอารมณ์และความกังวลของตัวนักลงทุนเอง สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยในการตัดสินใจของนักลงทุนคือ การมองภาพรวมของการลงทุนในระยะยาว ทั้งการวางแผนและการกำหนดเป้าหมายซึ่งจะทำให้นักลงทุนไม่ไขว้เขวไปตามการผันผวนของตลาด

2. การลงทุนแบบจับจังหวะตลาด (Market Timing)

ดังที่ได้กล่าวไปในข้อแรกว่าการคาดการณ์ตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะมีอยู่หลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอนาคต ดังนั้นแทนที่นักลงทุนจะคาดการณ์ตลาดแล้วเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ตามจังหวะเวลาที่นักลงทุนคาดเดาเพื่อหวังผลกำไรในระยะสั้น นักลงทุนควรจะมุ่งความสำคัญไปที่การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกัน รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดและอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรืออีกหนึ่งวิธีที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้ได้คือการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) ซึ่งเป็นการลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันในทุกๆ งวด เช่น ทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกปี วิธีนี้จะช่วยให้นักลงทุนจำกัดผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด และยังเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการออมและการลงทุนให้กับตัวนักลงทุนเองด้วย ที่สำคัญ หากตลาดอยู่ในช่วงขาลง วิธีนี้จะทำให้พอร์ตของนักลงทุนมีจำนวนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นโดยที่มีต้นทุนในการซื้อต่ำลง

3. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยง

การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน คือการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เงินฝาก ตราสารทุน ตราสารหนี้ ทองคำ หรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากนี้การเลือกลงทุนในประเทศอื่นๆหรือแม้แต่การใช้สไตล์การลงทุนที่หลากหลายก็ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับการลงทุนในหุ้นนั้นการกระจายความเสี่ยงของหุ้นในพอร์ตนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะนักลงทุนสามารถทราบได้ทันทีว่าหุ้นแต่ละตัวอยู่ในหมวดธุรกิจใดและแตกต่างกันอย่างไร แต่สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมนั้น นักลงทุนหลายท่านอาจกำลังเข้าใจผิดว่า การที่มีกองทุนรวมหลายๆกองในพอร์ตก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีอยู่แล้วแต่ในความเป็นจริงนั้นกองทุนแต่ละกองที่นักลงทุนถืออยู่อาจจะลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมือนกันหรืออยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันก็ได้ นั่นหมายความว่านักลงทุนไม่ได้กระจายความเสี่ยงเลยทั้งๆที่สามารถกระจายได้ (ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ:Unsystematic Risk).

4. ไม่เลือกลงทุนในหุ้นเมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ

เมื่อนักลงทุนเริ่มเข้าใกล้วัยเกษียณ ระยะเวลาที่จะใช้ไปเพื่อการลงทุนจึงสั้นลงและยอมรับความเสี่ยงได้น้อยลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านักลงทุนจะต้องขายหุ้นหรือหลักทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดในพอร์ต เพื่อย้ายไปถือตราสารหนี้หรือเงินสดเพียงอย่างเดียว เหตุผลสนับสนุนในการเลือกลงทุนในหุ้นต่อเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ข้อแรกคือ ในอนาคตเกณฑ์อายุสำหรับการเกษียณอายุราชการและเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัจจุบันที่อายุ 60 ปี ก็อาจจะเพิ่มเป็น 65 ปี นั่นหมายความว่านักลงทุนจะได้ทำงานและมีรายได้ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ข้อสอง อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ยืนยาวมากขึ้น ลองนึกดูว่าหากเรามีอายุมากถึง 90 ปี เราจะต้องการเงินเก็บหรือเงินลงทุนเพื่อมาใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังวัยเกษียณเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ และสุดท้ายต้องไม่ลืมว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อำนาจซื้อหรือมูลค่าของเงินลดลง หากนักลงทุนนำเงินไปลงทุนเฉพาะตราสารหนี้หรือเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าค่าเงินเฟ้อ มูลค่าของเงินเหล่านั้นก็จะน้อยลง ทั้งนี้แม้ว่าระดับของเงินเฟ้อในปัจจุบันจะยังไม่สูงมาก แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้นและอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นส่วนหนึ่งในการลงทุนของนักลงทุนควรเลือกถือสินทรัพย์ชนิดอื่นบ้าง เช่น หุ้นหรือกองทุนรวม เพื่อช่วยลดผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ.

5. การไม่เริ่มที่จะลงทุน

มีหลายคนที่คิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะลงทุน เพราะยังมีเงินทุนไม่เพียงพอจึงไม่เริ่มลงทุนเสียที การเลื่อนวันที่จะลงทุนออกไปทำให้พวกเขาพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากระยะเวลาในการลงทุน ตัวอย่างเช่น หากนำเงิน 2,000 บาท ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี เป็นเวลา 30 ปี มูลค่าของเงินลงทุนทั้งหมดที่ได้จะมากกว่าการ นำเงิน 4,000 บาท ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่เท่ากันแต่ใช้เวลาในการลงทุนเพียงแค่ 15 ปี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผลของดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) นั่นเอง ผลประโยชน์ที่ได้จากดอกเบี้ยทบต้น คือดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวดจะถูกนำไปรวมกับเงินต้นของงวดต่อๆไปในอนาคต การลงทุนในระยะเวลาที่มากขึ้นก็จะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ข้อผิดพลาดในการลงทุนของนักลงทุนมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ แต่นักลงทุนก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเหล่านั้นได้ โดยการมองภาพรวมของการลงทุนแบบระยะยาวและเลือกวางแผนลงทุนอย่างเหมาะสม ไม่ลงทุนแบบจับจังหวะตลาดเพื่อเก็งกำไร ใช้ประโยชน์จากการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging และประโยชน์จากกลไกของดอกเบี้ยทบต้นและสุดท้ายนี้อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่คุณยังไม่ได้เริ่มลงทุน

 

บทความโดย ณัฏฐกานต์ โกศลพิเนต <Nuttakan.Kosonpinate@morningstar.com>

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar Analysts   -