ESG ตัวช่วยสร้างความมั่นคง

ในช่วงเวลาที่ตลาดเผชิญความตึงเครียด การลงทุนที่คำนึงถึง ESG สามารถให้ความมั่นคงที่มากขึ้น จากการศึกษาของ Morningstar Sustainalytics

Morningstar 17/07/2568
Facebook Twitter LinkedIn

1

ในช่วงเวลาที่ตลาดเผชิญความตึงเครียด การลงทุนที่คำนึงถึง ESG สามารถให้ความมั่นคงที่มากขึ้น จากการศึกษาของ Sustainalytics

บริษัทที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ต่ำแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นทางการเงินที่มากกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง

ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืนคือให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ Morningstar Sustainalytics พบว่าไม่เป็นความจริงในช่วงที่ตลาดมีความตึงเครียด

ตั้งแต่ปี 2019 ตลาดการเงินเผชิญกับความผันผวนอย่างมาก รวมถึงสามช่วงเวลาที่เกิดความตึงเครียดในตลาด นักวิเคราะห์ของ Sustainalytics ได้แก่ Bin Dong และ Kasey Vosburg ได้ศึกษาว่าคะแนนความเสี่ยง ESG ที่ต่ำจาก Sustainalytics สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือป้องกันในช่วงตลาดขาลงได้หรือไม่ โดยใช้คะแนนดังกล่าวเป็นสัญญาณของแนวปฏิบัติด้านการจัดการความเสี่ยง ESG ที่เหนือกว่า

นักวิเคราะห์พบว่า “คะแนนความเสี่ยง ESG ที่ต่ำมีผลในเชิงบวกแม้จะไม่มากต่อผลตอบแทนส่วนเกินของหุ้น (หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าอัลฟ่า) โดยทิศทางและขนาดของผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของความตึงเครียดของตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างคะแนนความเสี่ยง ESG กับผลประกอบการทางการเงิน และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ตามสถานการณ์เฉพาะ”

การศึกษานี้ได้วิเคราะห์ผลประกอบการทางการเงินและคะแนนความเสี่ยงด้าน ESG ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2019 ถึงเมษายน 2025 โดยครอบคลุมช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสำคัญ ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 (มีนาคมถึงธันวาคม 2020), การเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน (กุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2022) และการประกาศเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2025

ในการศึกษานี้ นักวิเคราะห์ได้สร้างพอร์ตการลงทุน 5 ชุด โดยจัดเรียงตามระดับความเสี่ยง ESG ตั้งแต่ “น้อยมาก” ไปจนถึง “รุนแรง” และใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (value-weighted methodology) ในการจัดพอร์ต

แผนภาพด้านล่างแสดงการกระจายตัวของบริษัทในดัชนี S&P 1500 ตามหมวดหมู่ความเสี่ยงด้าน ESG

1

วิธีการวัดคะแนนความเสี่ยง ESG

ตามข้อมูลจาก Morningstar Sustainalytics คะแนนความเสี่ยง ESG ใช้วัดระดับ มูลค่าทางเศรษฐกิจของบริษัทอาจจะอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากปัจจัยด้าน ESG  โดยคะแนนนี้อิงจากเกณฑ์ที่ประเมินทั้งจากความเสี่ยงด้าน ESG เฉพาะตามอุตสาหกรรมย่อย และความสามารถของบริษัทในการจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น

คะแนนความเสี่ยง ESG มีช่วงคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 โดยคะแนนที่สูงกว่าจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่รุนแรงมากกว่า

ระดับความเสี่ยง ESG ต่ำมาก (Negligible ESG Risk – คะแนน 10):
สะท้อนถึงความเสี่ยง ESG ในระดับต่ำมาก แสดงถึงการดำเนินงานที่ยั่งยืนอย่างเข้มแข็ง และมีความเสี่ยงต่ำจากประเด็นด้าน ESG

ความเสี่ยงระดับต่ำ (Low Risk – คะแนนมากกว่า 10 ถึง 20):
บ่งชี้ถึงระดับความเสี่ยง ESG ที่มีนัยสำคัญในระดับต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมภายใต้บริบทของอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินการอยู่

ความเสี่ยงระดับปานกลาง (Medium Risk – คะแนนมากกว่า 20 ถึง 30):
สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงด้าน ESG ที่ปานกลาง โดยมีการเปิดรับต่อประเด็นที่อาจมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจยังไม่ได้รับการจัดการอย่างสมบูรณ์

ความเสี่ยงระดับสูง (High Risk – คะแนนมากกว่า 30 ถึง 40):
หมายถึงข้อกังวลด้าน ESG ที่มีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อผลการดำเนินงานทางการเงินหรือการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว

ความเสี่ยงระดับรุนแรง (Severe Risk – คะแนนมากกว่า 40):
บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้าน ESG ที่ยังไม่ได้รับการจัดการในระดับสูงมาก ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาทสำคัญ หรือโครงสร้างธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับ

ผลการศึกษาและข้อสรุป

จากการใช้พอร์ตที่มีความเสี่ยง ESG ต่ำเป็นตัวเปรียบเทียบ (Low ESG Risk Portfolio) ทาง Morningstar Sustainalytics ได้เปรียบเทียบผลตอบแทนส่วนเกินสะสมรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ถึงเมษายน 2025 พบว่าพอร์ตที่มีความเสี่ยง ESG ต่ำมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และสร้างผลตอบแทนส่วนเกิน (alpha) ที่ปรับแล้วเป็นบวก

ที่น่าสังเกตคือ การลดคะแนนความเสี่ยง ESG ลง 5 คะแนน เชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนส่วนเกินรายปีประมาณ 0.990%

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบของความเสี่ยง ESG ที่มีต่อผลประกอบการทางการเงินของหุ้นนั้นค่อนข้าง “เล็กน้อย”

ผลกระทบจากเหตุการณ์สำคัญ

  • โควิด-19: นักลงทุนให้ความสำคัญกับความเสี่ยง ESG มากขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ ซึ่งความเสี่ยง ESG กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน
  • สงครามรัสเซีย–ยูเครน: บริษัทที่มีความเสี่ยง ESG ต่ำ ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าบริษัทที่มีความเสี่ยง ESG สูง
    นักวิเคราะห์อธิบายว่า เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกพลังงานฟอสซิลรายใหญ่ที่สุดของโลก (เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ) การหยุดชะงักของอุปทานและมาตรการคว่ำบาตรที่ตามมาหลังการรุกรานยูเครน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดพลังงานโลก ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มบริษัทที่อยู่ในหมวด ESG Risk สูงและรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน มีผลตอบแทนส่วนเกินสูงในระยะสั้น
    อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว บริษัทที่มีความเสี่ยง ESG สูงกลับมีผลประกอบการที่ต่ำกว่ามากในตัวชี้วัดทางการเงินหลัก ๆ เช่น ความผันผวนและผลตอบแทน
    ในแผนภาพประกอบ นักวิเคราะห์ระบุว่า บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม ESG Risk ต่ำและปานกลางให้ผลตอบแทนส่วนเกินในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง และมีความผันผวนต่ำ ในขณะที่กลุ่ม ESG Risk สูงให้ผลตอบแทนส่วนเกินในเชิงลบอย่างต่อเนื่อง
  • การประกาศเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ: นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบบริษัทที่มีความเสี่ยง ESG ต่ำ เนื่องจากมองว่าบริษัทเหล่านี้มีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขภาษีที่เข้มงวดได้ดีกว่า

1

ผู้เขียนสรุปว่า การนำคะแนนความเสี่ยง ESG มาใช้ในการวิเคราะห์ให้ข้อได้เปรียบในการลงทุน โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า การพิจารณาความเสี่ยง ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน “ช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีส่วนช่วยในการรักษาผลประกอบการทางการเงินไว้อีกด้วย”

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar