หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วแปดครั้งตั้งแต่ปี 2024 ธนาคารกลางยุโรปได้หยุดการลดดอกเบี้ยไว้ชั่วคราว
ประเด็นสำคัญ
- ตลาดคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งภายในปีนี้
- ผู้กำหนดนโยบายชี้ถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนและค่าเงินยูโรที่แข็งค่า
- ธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า เเงินเฟ้อสิ้นสุดลงแล้ว
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ถือเป็นการหยุดพักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2024 การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซนที่ทรงตัวใกล้เป้าหมาย 2% ของธนาคารกลาง โดยมีแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานที่ลดลง และการชะลอตัวของเงินเฟ้อในภาคบริการ ตลาดไม่ได้ตอบสนองมากนัก เนื่องจากการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ครั้งนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว
คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า “แรงกดดันด้านราคาภายในประเทศยังคงผ่อนคลายลง โดยค่าจ้างเติบโตช้าลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอดีตของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมโลกที่ท้าทายได้โดยรวม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากข้อพิพาททางการค้า” พร้อมระบุว่าการตัดสินใจครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์
ธนาคารกลางไม่ได้ให้แนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต และยังคงยึดแนวทางการพิจารณาตามข้อมูลและการตัดสินใจในแต่ละการประชุม ลาการ์ดกล่าวในการแถลงข่าวว่า “เรากำลังอยู่ในจุดที่เหมาะสมในการหยุดและสังเกตสถานการณ์ เราจะมีการคาดการณ์ใหม่ในเดือนกันยายน และจะประเมินสถานการณ์ต่อไปในแต่ละการประชุม” เธอเสริมว่า “เรามั่นใจว่าเฟสของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สิ้นสุดลงแล้ว”
ระดับดอกเบี้ย 2% เป็นระดับที่เหมาะสมหรือไม่?
“การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของ ECB ในช่วงปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการปรับลดอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งถือว่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคำวิจารณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ขณะที่ GDP ของยูโรโซนค่อย ๆ ฟื้นตัว เงินเฟ้อก็เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม” ไมเคิล ฟิลด์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดยุโรปของ Morningstar กล่าว
ฟิลด์กล่าวต่อว่า “นักลงทุนคงไม่ผิดหวังที่ ECB หยุดการลดดอกเบี้ยชั่วคราว ระดับดอกเบี้ยที่ 2% ถือว่าเหมาะสมมาก และเป็นระดับที่สามารถสนับสนุนภาคธุรกิจในยุโรปที่ต้องการกู้ยืมและลงทุนในช่วงเดือนข้างหน้าได้ดี อีกทั้งยังอาจช่วยหนุนตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้อีกด้วย”
อัตราดอกเบี้ยนโยบายสำคัญของ ECB มีอะไรบ้าง?
ณ วันที่ 11 มิถุนายน อัตราดอกเบี้ยนโยบายสำคัญ 3 รายการของ ECB ได้แก่:
- อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility Rate): 2.00%
- อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์หลัก (Main Refinancing Rate): 2.15%
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนเกิน (Marginal Lending Facility): 2.40%
การตัดสินใจเมื่อวันพฤหัสบดีเกิดขึ้นหลังจากที่มีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งนับเป็นการลดอกเบี้ยครั้งที่แปดภายในเวลาเพียงหนึ่งปี ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอังกฤษเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในเดือนเดียวกัน ในขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เลือกที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0%
วงจรการลดดอกเบี้ยกำลังจะสิ้นสุดลงหรือไม่?
เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) พยายามลดความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ โดยตลาดสวอปให้ความเป็นไปได้ต่ำมากสำหรับการลดดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม อิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ ECB กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Econostream Media ว่า
“อัตราดอกเบี้ยของเราอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และเกณฑ์ในการพิจารณาลดดอกเบี้ยอีกครั้งนั้นสูงมาก จะมีเหตุผลในการลดอัตราดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อเราเห็นสัญญาณว่าระดับเงินเฟ้อเบี่ยงเบนจากเป้าหมายของเรามากอย่างมีนัยสำคัญในระยะกลาง”
Mark Wall หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ยุโรปของ Deutsche Bank กล่าวว่า ECB จำเป็นต้องเปิดทางเลือกไว้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังสูงอยู่ โดยเขายังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอีกด้วย
เขาอธิบายว่า “ตามที่ลาการ์ดส่งสัญญาณไว้อย่างชัดเจน ECB ได้หยุดวงจรการผ่อนคลายนโยบายไว้ในเดือนกรกฎาคม คำถามก็คือ การหยุดครั้งนี้จะสั้นหรือยาว? และนี่อาจเป็นการหยุดที่ทำให้ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% กลายเป็นระดับสุดท้ายของวงจรผ่อนคลายนี้หรือไม่?”
Wall กล่าวต่อว่า: “แต่หากความไม่แน่นอนด้านการค้าลดลง เศรษฐกิจที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง ประกอบกับการกระตุ้นทางการคลังในระดับสูง จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อในทิศทางขาขึ้น ในไม่ช้านี้ ตลาดอาจเปลี่ยนความสนใจจาก ‘การลดดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย’ ไปเป็น ‘การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก’”
Dave Chappell ผู้จัดการกองทุนอาวุโสจาก Columbia Threadneedle กล่าวว่า:
“ประตูสู่การผ่อนคลายนโยบายถูกปิดลงอย่างกะทันหันในการประชุม ECB ครั้งล่าสุด เมื่อประธานลาการ์ดระบุอย่างชัดเจนว่า อย่างน้อยในตอนนี้ ECB ได้เดินทางมาถึง ‘จุดหมายของนโยบาย’ แล้ว อย่างไรก็ตาม ยูโรโซนยังคงพยายามเร่งบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 1 สิงหาคม และค่าเงินยูโรก็ยังคงแข็งค่า ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะสั้นจึงยังคงโน้มไปในทางขาลง จนกว่ามาตรการกระตุ้นทางการคลังของเยอรมนีจะเริ่มมีผล”
เขาสรุปว่า: “แม้ว่าตลาดคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ก่อนสิ้นปีนี้ แต่ ECB อาจพบว่าจุดหมายของนโยบายครั้งนี้...เป็นเพียงจุดแวะพักชั่วคราวเท่านั้น”
ผู้กำหนดนโยบายคิดอย่างไรเกี่ยวกับค่าเงินยูโรที่แข็งค่า?
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ดูเหมือนจะรู้สึกสบายใจกับการที่ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของยุโรป และการประเมินของตลาดต่อผลกระทบจากภาษีการค้า
อิซาเบล ชนาเบล จาก ECB กล่าวว่า “สถานการณ์ในปัจจุบันเสี่ยงต่อการบ่อนทำลายสถานะพิเศษของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่สหรัฐฯ ได้รับมาตลอดหลายทศวรรษ” เธอกล่าวต่อว่า “นี่เป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์สำหรับยูโรโซนในการส่งเสริมบทบาทของยูโรในเวทีโลกให้เป็นสกุลเงินสำรอง สกุลเงินที่ใช้ในการออกใบแจ้งหนี้ และเป็นสกุลเงินเพื่อการจัดหาเงินทุน”
การลดดอกเบี้ยส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?
ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อมีการคาดการณ์ว่าจะลดดอกเบี้ย ในตลาดตราสารหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยหมายถึงผลตอบแทน (yield) ลดลง ซึ่งจะทำให้ราคาของพันธบัตรเพิ่มขึ้น อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงยังทำให้พันธบัตรที่ออกในช่วงดอกเบี้ยสูงก่อนหน้านั้นดูน่าสนใจมากขึ้นในแง่ของผลตอบแทน
ในทางตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ฝากเงินออม แต่ผู้กู้จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากหนี้สินและดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบ้าน จะถูกลง