สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 3ปี 2560

กองทุนไทย 9 เดือนโต 4.63% นักลงทุนนิยมลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศ เน้นความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ลงทุนระยะยาวมากขึ้น

Facebook Twitter LinkedIn

           กองทุนไทยไตรมาส 3 โตเพิ่มเล็กน้อยจากสิ้นไตรมาส 2 เพียง 1% เนื่องจากหลายสินทรัพย์เริ่มผันผวนมากขึ้น ทำให้ยอดมูลค่าทรัพยสินสุทธิกองทุนรวมไทยมาปิดที่ 4.86 ล้านล้านบาท (ทั้งปีโต 4.63%) นักลงทุนยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องโดยมีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาส 3 ทั้งสิ้น 69,013 ล้านบาท

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ในไตรมาสที่ 3 นี้สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 6.25% แต่ดูเหมือนว่าความเชื่อมั่นที่มีต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของผู้ลงทุนไทยยังคงเป็นไปแบบกล้าๆกลัวๆจึงส่งผลให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางยังคงได้รับความนิยมต่อไปในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้

โดยที่ในไตรมาส 3 ปี 2560 นี้กองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรมมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 69,013 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปีนี้กองทุนรวมไทยมีเงินไหลเข้าสุทธิแล้วทั้งสิ้น 203,579 ล้านบาท โดยที่เทรนด์การลงทุนส่วนใหญ่ของผู้ลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมานั้นจะเน้นเรื่องของ 1. การลงทุนในต่างประเทศที่ตลอด 9 เดือนนี้มีเม็ดเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศแล้วกว่า 153,323 ล้านบาทขณะที่ลงทุนสินทรัพย์ภายในประเทศสุทธิเพียง 50,256 ล้านบาท

2. เน้นลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ดังจะเห็นได้จากเม็ดเงินที่ไหลเข้ากองทุนประเภท Foreign Investment Bond Fix Term, Short Term Bond, Global Bond (โดยเฉพาะกองทุนจำพวก Global Income), Global Allocation และ Conservative Allocation อย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 9 เดือนที่ผ่านมานี้ ในขณะที่กองทุนที่เงินไหลออกมากที่สุดในรอบ 9 เดือนนี้ได้แก่  กองทุนในกลุ่ม High Yield Bond แบบที่มีการกำหนดอายุ (Fix Term Fund) ทั้งที่ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และรวมไปถึงกองทุนในกลุ่มหุ้นต่างประเทศที่ทำผลตอบแทนได้ดีส่งผลให้ผู้ลงทุนบางส่วนขายทำกำไรออกมา และ

3. การลงทุนในกองทุนแบบระยะยาวมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศที่ปัจุจบันนี้การลงทุนในกองทุนต่างประเทศแบบที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุ (มูลค่าทรัพยสินสุทธิ 595,306 ล้านบาท) นั้นมีสัดส่วนที่มากกว่าแบบที่กำหนดอายุ (Fix Term Fund, มูลค่าทรัพยสินสุทธิ 561,486 ล้านบาท) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Flow

ซึ่งการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่นับรวมประเภท Term Fund) นี้นั้นยังคงได้รับความนิยมและยังคงเดินหน้าทำสถิติอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาส 3 นี้กองทุนประเภทดังกล่าวนี้เปิดใหม่อีก 15 กองทุนส่งผลให้ตลอด 9 เดือนนี้กองทุนเปิดใหม่แล้วกว่า 50 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตขึ้นจากปลายปีที่แล้ว 50.20% และมีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งกลุ่มแล้วกว่า 165,765 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงถึง 595,306 ล้านบาท

ซึ่งแรงขับเคลื่อนของการเติบโตของกองทุนในกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการลงทุนในกองทุน 2 กลุ่มหลักๆได้แก่ กลุ่ม Global Bond (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 175,455 ล้านบาท) และ กลุ่ม Global Allocation (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 157,404 ล้านบาท) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากกระแสความนิยมในการลงทุนของกองทุนประเภท Income Fund เป็นหลัก โดยที่ 9 เดือแรกนี้มีเงินไหลเข้าทั้งสิ้น 115,483 และ 45,140 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศแบบกระจายการลงทุนทั้งในกลุ่ม Global Equity และ Emerging Market ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน

ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็ใช้โอกาสปรับพอร์ตการลงทุนขายทำกำไรและลดความเสี่ยงลงจากกลุ่มหุ้นต่างประเทศ (Global Health Care, Japan Equity, China Equity, และ Europe Equity) ที่ปรับตัวขึ้นมาสูงในช่วง 9 เดือนแรกนี้

FIFFlow

ทั้งนี้ภาพรวมของสินทรัพย์ในกลุ่มดังกล่าวนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้นั้นมี market share % เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 14.33% (เมื่อปลายปีแล้ว) เป็น 30.18% ซึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของกองทุนในกลุ่ม Global Bond เป็นหลัก ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มตราสารทุนนั้นลดลงจาก 48.07% เหลือเพียง 37.20% เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มกองทุนที่มีส่วนแบ่ง market share มากที่สุด 3 อันดับนั้นมีการปรับอันดับจากเมื่อตอนไตรมาส 2 โดยขณะนี้ กลุ่ม Global Bond มีมูลค่าทรัพย์สินสูงที่สุดที่ 175,455 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 29.47% ของทั้งกลุ่ม ขณะที่กลุ่ม Global Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 157,404 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 26.44% และกลุ่ม Global Health Care มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 49,570 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 8.18%

ขณะที่มูลค่า market share % ในส่วนของ บลจ. ของกลุ่มดังกล่าวนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยยะสำคัญเช่นกัน โดย บลจ. ทหารไทย ยังคงโตอย่างต่อเนื่องจากกองทุน Global Income ส่งผลให้มีส่วนแบ่ง market share เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.54% โดยที่ บลจ. กสิกรไทย ยังคงที่มี market share สูงที่สุดอยู่ที่ 23.77%

และหากจะพูดถึง บลจ. ต่างประเทศ ที่กองทุนไทยนิยมไปลงทุนมากที่สุดผ่านกองทุนประเภท FIFs แบบ Master-Feeder ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 50 บริษัทที่ได้เข้ามาทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมกองทุนไทยนั้น บลจ. PIMCO นั้นถือได้ว่าประสบความสำเร็จสูงที่สุดโดยที่ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนอยู่กับ PIMCO สูงถึง 143,927 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 28.75% จากไตรมาส 2) ขณะที่ บลจ. ชั้นนำอื่นของโลกอาทิ JP Morgan, State Street, BlackRock และ Deutsche ก็ได้รับความนิยมในลำดับถัดมา

GlobalFirm

ในส่วนของกองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ที่ค่อนข้างคึกคักในไตรมาสแรกของปี จากนั้นก็ดูเหมือนว่าความนิยมเริ่มแผ่วลงไปในไตรมาส 2 ตามผลตอบแทน และเริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งจากผู้ลงทุนในไตรมาส 3 นี้ (เม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 8,707 ล้านบาท) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากผลตอบแทนที่ดีของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ประกอบกับการออกกองทุนใหม่ในกลุ่มกองทุนรวมธรรมภิบาลไทย (THAI CG) ที่ล่าสุดมีออกมาแล้วทั้งสิ้น 7 กองทุน นำเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้าอุตสาหกรรมทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านบาท

ส่งผลให้ตลอด 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิแล้วทั้งสิ้น 19,571 ล้านบาท โดยที่แบ่งเป็นเข้ากองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) 8,254 ล้านบาทและกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid Cap) 11,315 ล้านบาท

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ในส่วนของผลการดำเนินงานของกองทุนประจำไตรมาส 3 นั้นถือว่าสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นอย่างดีในทุกกลุ่มกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกองทุนน้ำมัน (Commodities Energy, 7.56%) และกลุ่มหุ้นจีน (China Equity, 7.41%) หรือกลุ่มหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large Cap, 7.38%)

ทั้งนี้หากดูภาพรวมตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ กลุ่มกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีติดอันดับต้นๆนั้นล้วนแต่เป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้งสิ้นนำมาโดยกองทุน กลุ่ม China Equity กลุ่ม Emerging Market Equity และ กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง 22.67%, 18.68% และ 18.50% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มหุ้นไทยทั้งกลุ่ม Equity Large Cap และ Equity Small/Mid Cap ที่กลับโดดเด่นในไตรมาส 3 นี้ส่งผลให้ 9 เดือนแรกทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 11.23% และ 8.60% ตามลำดับ

ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้น โดยเฉพาะที่ลงทุนในประเทศอย่าง กลุ่ม Money Market กลุ่ม Short Term Bond และ กลุ่ม Mid/Long Term Bond ล้วนแต่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยค่อนข้างต่ำอยู่ที่เฉลี่ย0.80%, 1.37% และ 2.14% ตามลำดับ ขณะที่ Emerging Market Bond ทำได้เฉลี่ย 5.83% และ กลุ่ม Global Bond ทำได้เฉลี่ย 2.30%

ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกและสินค้าโภคภัณฑ์ นั้นก็สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ในระดับปานกลาง (เว้นเพียงแต่กองทุนน้ำมันที่ทำได้เฉลี่ย -13.02% โดยในส่วนของกองทุนกลุ่มที่เน้นลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ (Property Indirect และ  Property Indirect - Global) ทำได้เฉลี่ยได้อยู่ที่ 4.11% และ 5.06% ตามลำดับ ขณะที่กองทุนทองคำทำได้เฉลี่ย 6.40%

Category Return

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีก็ต้องมาดูความเคลื่อนไหวในการลงทุนของทั้ง LTF และ RMF ซึ่งดูจากตัวเลขช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมานี้ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็นการขายทำกำไรของผู้ลงทุนทั้ง 2 ประเภทการลงทุน โดยที่ LTF นั้นมีเงินไหลออกสุทธิแล้วทั้งสิ้น -19,943 ล้านบาท (สูงมากเป็นอันดับ 2 ตลอดกาล) คาดว่าเป็นผลมาจากการที่ตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นสูงในช่วงไตรมาส 3 นี้ส่งผลให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ขายทำกำไรกันออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความไม่มั่นใจที่จะกลับเข้าไปลงทุนในช่วงตลาดขาขึ้นในขณะนี้ เช่นเดียวกันกับการลงทุนในกองทุน RMF ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเล็กน้อย 274 ล้านบาท (ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554)  

ซึ่งถ้าดูจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้แล้วนั้นเชื่อได้ว่าเม็ดเงินลงทุนของทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวนี้น่าจะรอกลับเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้ายของปีดังเช่นอดีตที่ผ่านมา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วในไตรมาสสุดท้ายจะมีเงินไหลเข้า LTF และ RMF สุทธิอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาทและ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้จบไตรมาส 3 นี้ LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 345,260 ล้านบาท และ RMF มีอยู่ 225,927 ล้านบาท

LTFRMF

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2560

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst