สรุปภาพรวมกองทุนรวมปี 2018 (1)

จากคราวที่แล้วได้เกริ่นถึงภาพรวมกองทุนรวมไทยปี 2018 กันไปบ้างแล้ว วันนี้มาดูในรายละเอียดของส่วนแรกที่จะพูดถึงภาพรวมอุตสาหกรรม การเติบโตของกลุ่มกองทุนและปริมาณเงินไหลเข้า-ออกสุทธิกันก่อนค่ะ

Morningstar 15/01/2562
Facebook Twitter LinkedIn

สรุปภาพรวมกองทุนรวมปี 2018

ในปี 2018 ที่ผ่านมานั้นสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกเต็มไปด้วยปัจจัยผันผวน อุตสาหกรรมกองทุนรวม มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปิดที่ 5.1 ล้านล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 0.8% จากปี 2017 มีการเปิดกองทุนใหม่จำนวน 161 กองทุน (ไม่รวม Term Fund)  โดยในไตรมาสที่ 4 มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7.0 พันล้านบาท นักลงทุนยังให้ความสนใจกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารทุน โดยทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนตราสารทุนถึง 2.2 แสนล้านบาท

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

ทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index มีการแกว่งตัวตลอดทั้งปี 2018 โดยมีการขึ้นไปทำสถิติสูงสุด 1,838.96 จุดในช่วงไตรมาสแรกและปรับตัวในลักษณะขาลงอย่างต่อเนื่องจนปิดสิ้นปีที่ 1,563.88 จุด ซึ่งการแกว่งตัวของตลาดหุ้นในรอบปีนี้เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น ปัจจัยบวกจากการเติบโตของ GDP ที่ต่อเนื่องมาจากปลายปีที่แล้ว ทางด้านปัจจัยลบนั้นยังคงเป็นประเด็นการใช้ภาษีกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลกตลอดทั้งปี รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนธันวาคม 

สำหรับกองทุนรวมไทย กองทุนประเภทตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดที่ 1.7 ล้านล้านบาท ลดลง -17.5% ตามมาด้วยกองทุนประเภทหุ้นหรือตราสารทุนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดกองทุนรวมอยู่ที่ 44.2% และ 29.2% ตามลำดับ (จากปี 2017 ที่ 49.0% และ 24.7%)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทยแบ่งตามประเภททรัพย์สิน (ล้านบาท)

 1 TH TNA by asset class 190114

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018(ข้อมูลเฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infra)

กองทุนเปิดใหม่

จำนวนกองทุนรวมเปิดใหม่ในปี 2018 มีจำนวนทั้งสิ้น 161 กอง (ไม่รวม Term Fund) สูงกว่าปีแล้วซึ่งมี 152 กองทุน รวมเงินไหลเข้ากองทุนใหม่ทั้งหมด 1.0 แสนล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นกองทุนหุ้น 104 กอง (เงินไหลเข้าสุทธิ 5.0 หมื่นล้านบาท) กองทุนผสม 36 กอง (เงินไหลเข้าสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท)  และกองทุนตราสารหนี้ 19 กอง (เงินไหลเข้าสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท)

ในส่วนกองทุนหุ้นนั้น มีการเปิดกองทุนใหม่ทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศโดยกลุ่ม Global Equity เปิดกองทุนใหม่มากที่สุด 25 กอง ตามมาด้วยกลุ่มหุ้นไทย Equity Large-Cap 22 กอง ด้านกองทุนผสมนั้น มีกลุ่ม Aggressive Allocation เปิดใหม่ 18 กอง และ Global Allocation 16 กอง และสุดท้าย กองทุนตราสารหนี้ มีจำนวนกองเปิดใหม่ 19 กอง น้อยกว่าปีที่แล้วที่ 23 กองซึ่งส่วนมากนั้นเป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยมีกองทุนกลุ่ม Global Bond เปิดใหม่จำนวน 12 กองทุน

จำนวนกองทุนรวมเปิดใหม่ปี 2018 (ไม่รวม Term Fund)

2 TH New fund 2018

ปริมาณเงินไหลเข้า-ออกของกองทุน

ในไตรมาสที่ 4 นั้น มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.1 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปีที่ 7.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่มีเงินไหลเข้าสุทธิต่ำกว่าระดับหมื่นล้านบาท หากแบ่งตามประเภททรัพย์สิน กองทุนหุ้นยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์เกือบทั่วโลกได้ปรับตัวลงในปี 2018 ก็ตาม โดยมีเงินไหลเข้ากองทุนหุ้นสุทธิ 2.2 แสนล้านบาท ในทางกลับกันกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น -1.5 แสนล้านบาท ต่างจากปีก่อนหน้าที่กองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งอาจเกิดจากความกังวลด้านผลตอบแทนตราสารหนี้ที่สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

มูลค่าเงินไหลเข้า-ออกสุทธิแบ่งตามประเภททรัพย์สิน (ล้านบาท)

3 TH net flow quarterly by asset class 190114

ในขณะเดียวกัน หากแบ่งตามประเภท Morningstar category แล้วนั้น กองทุนกลุ่ม Short Term Bond ยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดที่ 9.5 แสนล้านบาท ลดลง -5.8% จากปีก่อนหน้า ตามมาด้วยกลุ่ม Equity Large-Cap ที่ 6.8 แสนล้านบาท ที่แม้จะปรับตัวลงเล็กน้อยจากสถิติสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ที่ 7.0 แสนล้านบาท แต่ก็มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่ม 7.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากมีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category (ล้านบาท)

4 TH top 10 TNA by categories 190114

ในส่วนของปริมาณเงินไหลเข้าออกสุทธินั้น กลุ่ม Equity Large-Cap เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 1.3 แสนล้าน ซึ่งเกิดจากการไหลเข้าสุทธิของทั้ง 4 ไตรมาส ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนตราสารหนี้เพียงกลุ่มเดียวใน 10 อันดับแรกอย่าง Foreign Investment Bond Fix Term ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 9.6 หมื่นล้านบาท โดยมีการออกกองทุนใหม่กันอย่างคึกคักในช่วงครึ่งหลังของปี ทางด้านเงินไหลออก กลุ่ม Money Market นั้นเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดเกือบ 1 แสนล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง -13.7% ตามมาด้วย กองทุน Global Bond ที่มีการไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ไตรมาส ทำให้มูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท ลดลง -55.1% กองทุนกลุ่มใหญ่ที่สุดอย่าง Short Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิ -7.0 หมื่นล้านบาทโดยเกิดจากเงินไหลออกในช่วงครึ่งปีหลังราว -1.3 แสนล้านบาท กลุ่ม Mid/Long Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิ -4.3 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินลดลง -17.6% จะเห็นได้ว่ากลุ่มกองทุนตราสารหนี้ขนาดใหญ่ทั้ง 3 กลุ่มติดอันดับกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด สะท้อนการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้

10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุดรอบปี 2018

5 TH top bottom flow in 2018 190114

คราวหน้าเราจะมาต่อกันที่รายละเอียดด้านกองทุนต่างประเทศ ผลตอบแทนเฉลี่ย กองทุนหุ้นไทย และกองทุนประหยัดภาษีกันค่ะ

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่าง ๆ ในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar