Beta กับการลงทุน

ค่า Beta นั้นคืออะไร ถูกนำไปใช้ในการพิจารณาในหุ้นหรือกองทุน smart beta อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันค่ะ

Morningstar 27/09/2562
Facebook Twitter LinkedIn

Beta คืออะไร

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นอาจเคยเห็นค่านี้กันมาบ้างแล้ว ซึ่งก็คือค่าที่แสดงความผันผวนของหลักทรัพย์นั้น ๆ ว่ามากหรือน้อยกว่าตลาด เช่น ค่า Beta ที่มากกว่า 1 แสดงถึงความผันผวนที่มากกว่าตลาด ในทางกลับกันหากมีค่าต่ำกว่า 1 ก็จะแสดงถึงความผันผวนต่ำกว่า ในด้านของกองทุนรวมค่า Beta จะเป็นการแสดงว่าผลการดำเนินงานกองทุนมีการเคลื่อนไหวอย่างไรเมื่อเทียบกับดัชนีอ้างอิง ยกตัวอย่างเช่น กองทุนที่มีค่า Beta 1.1 แสดงถึงผลการดำเนินงานกองทุนอาจดีกว่าดัชนีอ้างอิง 10% ในช่วงตลาดขาขึ้น แต่จะแย่กว่าดัชนีอ้างอิง 10% ในช่วงตลาดปรับตัวลง หาก Beta ต่ำกว่า 1 เช่น 0.85 กองทุนจะสร้างผลการดำเนินงานได้น้อยกว่าดัชนี 15% ช่วงตลาดขาขึ้น แต่จะดีกว่า 15% ในช่วงตลาดขาลงโดยมีสมมติฐานให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่

แนวคิดของ Beta นี้มีความเกี่ยวข้องกับกองทุนประเภท Passive fund ซึ่งก็คือกองทุนที่ลงทุนตามดัชนีอ้างอิง กลุ่มกองทุนที่จะอธิบายได้ชัดเจนที่สุดคือกองทุน SET 50 Index Fund ซึ่งจะมีค่า Beta ที่เกือบเท่าหรือเท่ากับ 1 ผลตอบแทนกองทุนจึงเป็นไปตามทิศทางดัชนีอ้างอิงนั่นเอง

ในประเทศไทยเองก็มีกองทุนที่นำหลักการของ Beta มาใช้ในการเลือกหุ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกองทุนเปิดธนชาต Low Beta (T-LowBeta) โดยนโยบายกองทุนจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มี Beta ไม่เกิน 1 หรือมีความเคลื่อนไหวของราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับ SET Index ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วงที่ผ่านมาหากตลาดเป็นขาขึ้น กองทุนอาจเคลื่อนไหวได้ต่ำกว่าตลาดแต่ในช่วงตลาดลงก็อาจสร้างผลการดำเนินงานได้ดีกว่าตลาด (ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังสิ้นสุด 31 สิงหาคม 2019 T-LowBeta ที่ 4.8% ต่อปีเทียบกับ SET TR 4.4% ต่อปี) 

Smart Beta คืออะไร

นักลงทุนบางท่านอาจได้ยินคำว่า Smart Beta กันมาบ้างแล้ว ในต่างประเทศมีการใช้แนวคิด Smart Beta ในกองทุน ETF ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างการบริหารแบบ Passive และ Active เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น รวมทั้งนักลงทุนจะได้ประโยชน์จากค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าของ ETF โดยน้ำหนักหลักทรัพย์ในพอร์ตนั้นจะต่างจากดัชนีอ้างอิงโดยมีหลักการพิจารณาเช่น ใช้ปัจจัยพื้นฐานเพื่อให้น้ำหนักกับหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตมากกว่า หรือเน้นลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เป็นต้น 

Strategic Beta

ทางมอร์นิ่งสตาร์เองได้มีการพัฒนา Strategic Beta ขึ้นโดยมีแนวคิดจาก smart beta แต่จะเน้นไปที่กลยุทธ์หรือวัตถุประสงค์ของการสร้าง index เช่น เน้นหุ้นจ่ายปันผล (Dividend), การประเมินมูลค่า (Valuation), คุณภาพ (Quality) โดยใช้ Economic Moat เป็นต้น หากดูในมิติของ Exchange Traded Product (ETP) (Exchange-traded fund หรือ ETF เป็นรูปแบบหนึ่งของ ETP) นั้นตลาดสหรัฐอเมริกามีการลงทุนแบบ Strategic Beta มากที่สุดราว 7.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือเกือบ 90% ของตลาดทั่วโลก

อย่างไรก็ตามในปี 2018 ตลาดของ Strategic Beta ETP มีการเติบโตที่ช้าลง แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคยังมีอัตราการเติบโต 12% โดยตลาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ได้แก่ ญี่ปุ่นหรือเกือบ 70% ของมูลค่า Strategic Beta ETP ของภูมิภาค โดยกลยุทธ์ที่มีนิยมมากที่สุดคือ Quality และ Dividend สำหรับประเทศไทยเองถือได้ว่า Strategic Beta ETP ยังเป็นเรื่องใหม่ โดยมีสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของภูมิภาค มูลค่าราว 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการเติบโตของผลิตภัณฑ์นี้อาจเกิดจากสภาวะ พัฒนาการ หรือความเข้าใจของผู้ลงทุนในแต่ละตลาด

สำหรับนักลงทุนที่สนใจสามารถดูค่า Beta ของกองทุนรวมรายกองได้ในหน้าเว็บไซต์ www.morningstarthailand.com โดยคลิกที่ชื่อกองทุน จากนั้นไปที่หัวข้อ Risk and Rating หรือสามารถดูพร้อมกันหลาย ๆ กองทุนได้ในส่วนของ “เปรียบเทียบกองทุน” ก็จะแสดงค่า Beta ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามค่า Beta นี้เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่นำมาพิจารณาที่เกิดจากการนำการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นหรือผลตอบแทนกองทุนรวมในอดีตมาคำนวณ ฉะนั้นนักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar