วางแผนการเงินแบบ Bucket Strategy

ในช่วงปลายปีแบบนี้ถือเป็นโอกาสตรวจสอบพอร์ตการลงทุนว่าเงินในแต่ละส่วนเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง วันนี้มอร์นิ่งสตาร์มีแผนการบริหารแบบ Bucket Strategy ให้นักลงทุนลองพิจารณาปรับใช้กันค่ะ

Morningstar 26/12/2562
Facebook Twitter LinkedIn

Bucket Strategy คืออะไร

Bucket Strategy คือการบริหารพอร์ตการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่แบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ หรือแต่ละ “ถัง” หรือ Bucket ตามชื่อเรียก ซึ่งแนวคิดหลักคือการแยกส่วนของเงินสำหรับใช้จ่ายในระยะสั้นในถังแรกออกจากเงินลงทุนในระยะยาวในถังอื่น เพราะเมื่อเงินถังแรกมีเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายระยะสั้นแล้ว เงินส่วนที่เหลือจะสามารถนำไปลงทุนในส่วนที่มีความเสี่ยงได้ทำให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าถ้าเกิดความผันผวนแล้วจะไม่มีเงินสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้มักจะใช้กับผู้ลงทุนวัยใกล้เกษียณหรือวัยเกษียณ แต่ในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนในช่วงอายุอื่นก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน

รูปแบบทรัพย์สินของแต่ละถังมีอะไรบ้าง

วิธีการวางแผนพอร์ตตาม Bucket Strategy อาจแบ่งเงินออกเป็น 3 ถังคือ ถังแรกเป็นเงินสดหรือทรัพย์สินสภาพคล่องสูง ถังที่สองการลงทุนที่มีระยะยาวกว่าถังแรกหรือมีความเสี่ยงขึ้นมาหน่อยเช่นตราสารหนี้ และถังสุดท้ายสำหรับระยะยาวเช่นการลงทุนในตราสารทุน

ถังแรก - สำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็น

สำหรับถังแรกนี้จะเป็นเงินสำหรับระยะสั้นโดยคำนึงถึงแผนการใช้จ่ายเป็นหลักเช่น ค่าใช้จ่ายจำเป็นในแต่ละเดือน ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การซ่อมแซมบ้านหรือด้านอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งในแต่ละปีนักลงทุนอาจลองทบทวนดูว่ามีการใช้จ่ายจริงเป็นอย่างไร มากเกินไปจนทำให้เงินในถังนี้ลดลงเร็วหรือไม่ จากนั้นลองประเมินว่าในปีหน้านี้จะเพิ่มหรือลดปริมาณเงินในถังแรกอย่างไรเช่น หากนักลงทุนที่อยู่ในวัยทำงานวางแผนจะซื้อบ้านหรือรถก็ควรพิจารณาดึงเงินมาใส่เพิ่มในถังแรกเพื่อให้บริหารสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม

ถังที่สอง - การลงทุนในระยะปานกลาง

เมื่อประเมินส่วนของถังแรกแล้ว ส่วนที่เหลืออาจแบ่งออกเป็นอีก 2 ถังตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนแรกคือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่มากนักหรือการลงทุนในระยะปานกลางอาจเป็นระยะ 5 ปีหรือนานกว่านั้น โดยวัตถุประสงค์ของเงินในถังนี้เพื่อสร้างรายได้และมีความมั่นคง โดยอาจเป็นการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือแม้กระทั่งการลงทุนในกองทุนหุ้นผันผวนต่ำ หรือการลงทุนแบบที่สร้างเงินปันผลก็สามารถเก็บไว้ในถังที่สองนี้ได้เช่นกัน ซึ่งส่วนของถังที่สองนี้จะถูกนำไปเติมในถังแรกที่ถูกใช้จ่ายไปนั่นเอง


ถังที่สาม - การลงทุนในระยะยาว

และในส่วนของถังสุดท้ายนี้จะเน้นไปที่การเงินลงทุนระยะยาว ซึ่งควรเน้นการลงทุนในหุ้น กองทุนหุ้น หรือตราสารหนี้ความเสี่ยงสูงขึ้น หรืออย่างกองทุน SSF ที่มีระยะการถือครอง 10 ปี โดยในส่วนของถังสุดท้ายนี้เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวสูงสุดใน 3 ถัง และในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนอาจต้องหมั่นตรวจสอบการลงทุนในถังนี้เป็นระยะว่ามีความเสี่ยงจากความผันผวนสูงเกินไปหรือไม่ และควรจำไว้เสมอว่าเงินลงทุนในส่วนนี้มีโอกาสขาดทุนได้สูงกว่าใน 2 ถังแรกได้มากเช่นกัน

วิธีการบริหารทรัพย์สินแบบ Bucket Strategy นี้ไม่ได้เป็นหลักการตายตัวว่าต้องมี 3 ถังตามที่ได้กล่าวไป นักลงทุนบางท่านอาจเลือกที่จะมีเพียง 2 ถังคือรวมถังที่ 2 และ 3 ไว้ด้วยกันเพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือสไตล์ของนักลงทุนแต่ละคนเอง โดยยังคงวัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการเพื่อการใช้จ่ายอย่างเพียงพอพร้อมกับสามารถมีเงินลงทุนในระยะยาวไว้เช่นเดิม

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar