5 ตัวเลขกับกองทุนรวมไทยปี 2019

ในปีที่แล้วนักลงทุนไทยอาจจะเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบตลาดการเงินการลงทุน วันนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์ได้สรุปข้อมูลบางส่วนของปี 2019 มาให้ติดตามกันค่ะ

Morningstar 09/01/2563
Facebook Twitter LinkedIn

5.4 ล้านล้านบาท

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ณ สิ้นปี 2019 อยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท (โดยเป็นการรวมมูลค่ากองทุนประเภทต่าง ๆ ทั้งกองทุนเปิด กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองรีท เป็นต้น) โดยมีการเติบโต 6.6% จากปี 2018 กองทุนรวมตราสารหนี้ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราว 48% รองลงมาเป็นกลุ่มกองทุนรวมตราสารทุนมีส่วนแบ่งตลาด 28% (ที่มา : สมาคมบริษัทจัดการลงทุน)

633 กองทุน

ในปี 2019 มีจำนวนกองทุนเปิดใหม่ทั้งสิ้น 633 กอง ซึ่งนักลงทุนอาจจะพอเดาได้ว่าประเภททรัพย์สินที่มีกองทุนเปิดใหม่สูงสุดคือกองทุนตราสารหนี้จำนวน 442 กอง กลุ่มที่มีจำนวนกองทุนใหม่สูงสุดคือกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศแบบ term fund หรือ Foreign Investment Bond Fix Term จำนวน 361 กองซึ่ง บลจ. ขนาดใหญ่นิยมออกกองทุนประเภทนี้และได้รับความสนใจจากนักลงทุนโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

กลุ่ม Equity Large-Cap เป็นกลุ่มที่มีกองทุนเปิดใหม่มากที่สุดเป็นอันดับที่สองจำนวน 30 กองทุน โดยมีการเปิดกองทุนใหม่ตลอดทั้งปี ซึ่งมีทั้งกองทุนเปิดใหม่ (มีกลยุทธ์การลงทุนแบบใหม่), กองทุนที่เปิดเพื่อรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุน LTF RMF รวมมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่เปิดใหม่จำนวน 30 กองทุนนี้เป็นเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

2.1 แสนล้านบาท

ปี 2019 มีมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวม 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับปกติของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย หากดูที่ปริมาณเงินไหลเข้าในแต่ละช่วงของปีพบว่าในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดรวม 1.3 แสนล้านบาท โดยเกิดจากเงินไหลเข้าปริมาณมากทั้งจากกองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารทุนที่ 7.3 หมื่นล้านบาทและ 5.2 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากลุ่มกองทุนขนาดใหญ่เช่น Short Term Bond, Mid-Long Term Bond และ Equity Large-Cap

8.4%

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนปี 2019 ที่ 8.4% หากดูในรายกลุ่มกองทุนจะพบว่ากองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในประเทศ โดยกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 3 อันดับแรกในรอบปีได้แก่กลุ่ม Global Technology 26.8%, Europe Equity 26.3%, Global Sector Focus Equity 24.8% ในขณะที่กองทุนไทยเช่นกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีผลตอบแทนเฉลี่ย 2.5% ใกล้เคียงกับกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ที่เฉลี่ย 2.5% มีกลุ่มกองทุนเพียง 2 กลุ่มที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบคือ ASEAN Equity และ Equity Fix Term ที่ -0.3% และ -1.3% ตามลำดับ

4.1 แสนล้านบาท

ปิดท้ายกันด้วยมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน LTF ที่ถึงแม้ว่าปีใหม่นี้จะไม่ได้รับความสนใจอย่างในอดีตเนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หมดไป และแทนที่ด้วยกองทุน Super Savings Fund (SSF) แต่หลายท่านอาจสงสัยว่าในช่วงสุดท้ายของปีกองทุน LTF มีขนาดเท่าใด ยังมีเงินเข้ากองทุน LTF อยู่หรือไม่ ซึ่ง ณ สิ้นปี 2019 กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ราว 6.3% และมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 2.0 หมื่นล้านบาท โดยในเดือนธันวาคมยังคงมีเงินไหลเข้า 2.3 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับในอดีต

ในสัปดาห์หน้าทางมอร์นิ่งสตาร์จะเปิดเผยรายงานสรุปภาพรวมกองทุนรวมไทยปี 2019 ฉบับเต็ม โดยจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งในส่วนของมูลค่าเงินไหลเข้า-ออกรายกลุ่มกองทุน, การลงทุนในกองทุน FIF, ส่วนแบ่งตลาดกองทุนรวม, ผลตอบแทนกองทุนรายกลุ่ม และรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจให้ได้ติดตามกันค่ะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar