สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 ปี 2020

ไตรมาสแรกปีนี้อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์ได้สรุปข้อมูลมาให้ติดตามกันอีกเช่นเคยค่ะ

Morningstar 14/04/2563
Facebook Twitter LinkedIn

เข้าสู่ปี 2020 ตลาดการลงทุนไทยก็ต้องเจอกับหลายปัจจัยลบ ทั้งสัญญาณเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกและมากกว่า 2,000 คนในประเทศไทย ทำให้ภาพเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มที่แย่กว่าปีที่แล้ว ซึ่งได้สะท้อนไปถึงสภาพตลาดการลงทุน ตลาดหุ้นไทยค่อย ๆ ปรับตัวลงในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และลงรุนแรงในเดือนมีนาคม โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญคือราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงรุนแรงส่งผลต่อหุ้นพลังงานที่เป็น big cap ของตลาดหุ้นไทยและการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นและนำไปสู่การปิดสถานประกอบธุรกิจหลายประเภท โดย SET Index ลงไปแตะระดับต่ำสุด 969.08 จุดและปิดไตรมาสแรกที่ 1,125.86 จุด โดยผลตอบแทน SET TR ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -28.0% รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ก็ต้องประสบกับภาวะสภาพคล่องที่ไม่ปกติ มีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนรายวันเป็นมูลค่าสูงเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการดูแลในเดือนมีนาคม

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ที่ 4.6 ล้านล้านบาท ลดลง -15.3% จากสิ้นปี 2019 มีเงินไหลออกสุทธิ -3.9 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง –4.5 แสนล้านบาท กลุ่มตราสารทุนมีเงินไหลออกสุทธิ -2.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงกลุ่มกองทุนผสม และกลุ่ม Commodities ก็มีเงินไหลออกสุทธิเช่นกัน ในขณะที่มีเพียงกลุ่มตราสารตลาดเงินที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.0 แสนล้านบาท

ภาพรวมผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ยังไม่ดีนัก มีเพียงกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก โดยมีกองทุนรวมทองคำให้ผลตอบแทนสูงสุด 9.2% และต่ำสุดเป็นกองทุนน้ำมันที่ติดลบมากถึง -52.1% ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก

กองทุนหุ้นไทยได้รับผลกระทบที่ชัดเจนตามตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงโดยมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง 26%-29% ซึ่งมีสาเหตุหลักจากตลาดหุ้นที่เคลื่อนตัวทิศทางขาลงในขณะที่มีเงินไหลออกสุทธิรวม -7.8 พันล้านบาทซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นระดับที่สูงมากนักเมื่อเทียบกับในอดีต ประกอบกับมีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ที่ต่ำกว่าในอดีต โดยเงินลงทุนที่ขายได้ในปีนี้เป็นเงินลงทุนในปี 2015 หรือก่อนหน้านั้น

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ลดลงอย่างชัดเจนโดย ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ลดลง -17.1% จากสิ้นปี 2019 มูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมตราสารหนี้ -23.2%, ตราสารทุน -25.1% และกองทุนผสม -14.9% มีเพียงกองทุนรวมประเภทตราสารตลาดเงินที่มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 18.2% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของกองทุนรวมกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 19% จากปีสิ้นปีที่แล้วที่ 14%

1 TH Q1 20 broad TNA

ปริมาณเงินไหลเข้า-ออกของกองทุน

ปี 2020 เริ่มด้วยเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสแรกรวม -3.9 แสนล้านบาท เป็นเงินไหลออกสุทธิเกือบทุกประเภททรัพย์สินยกเว้นตราสารตลาดเงิน โดยกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดคือกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง -4.5 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นกองทุนประเภทตราสารทุนมีเงินไหลออกสุทธิ -2.4 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนผสม -1.3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กองทุนตราสารตลาดเงินมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.0 แสนล้านบาท

กรณีเงินไหลออกสุทธิที่สูงของกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นเกิดจากเงินไหลออกจากกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่เช่นกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่มีการปิดกองทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีเงินไหลออกจากกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term ที่เป็นไปตามเงื่อนไขปิดกองทุนเมื่อครบกำหนด โดยในไตรมาสแรกมีกองทุนกลุ่มนี้ปิดไปทั้งสิ้น 66 กองทุน ทำให้อาจมีเงินบางส่วนไหลเข้ากองทุนรวมตราสารตลาดเงินซึ่งเกิดจากการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ

ด้านกองทุนรวมตราสารทุนมีทิศทางตรงข้ามกับไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสแรกของปีนี้มีเงินไหลออกสุทธิ ซึ่งเกิดจากมีการขายเงินลงทุนในกลุ่ม Property Indirect - Global ที่มีผลตอบแทนค่อนข้างดีในปีที่แล้ว และมีเงินไหลออกจากกองทุนหุ้นทั้งในและต่างประเทศ อันอาจเกิดจากนักลงทุนลดความเสี่ยงจากสภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลง และบางส่วนอาจเป็นการขายทำกำไร

2 TH Q1 20 broad net flow

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar