มูลค่าทรัพย์สิน - เงินไหลเข้า-ออกสุทธิ

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิและเงินไหลเข้า-ออกสุทธิตาม Morningstar Category

Morningstar 14/04/2563
Facebook Twitter LinkedIn

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category

แม้อุตสาหกรรมกองทุนรวมจะมีมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลุ่มกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุด 10 อันดับแรกยังคงมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันคงที่ที่ 86% แต่จะมีการสลับอันดับกันเล็กน้อย กลุ่ม Short Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงถึง -23.2% ซึ่งเป็นผลจากการไถ่ถอนเงินลงทุนและกองทุนขนาดใหญ่ที่ปิดไป ทำให้มูลค่ากองทุนกลุ่มรวมอยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาทจาก 1.1 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2019 ในขณะที่กลุ่มกองทุนตราสารตลาดเงินมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 18.2% ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในไตรมาสแรกนี้และทำให้มีขนาดใหญ่อันดับที่สองแทนที่กลุ่ม Equity Large-Cap นอกจากนี้กลุ่ม Mid/Long Term Bond ก็เป็นอีกกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงถึง -25.9%

ด้านกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง -26.7% จากสิ้นปี 2019 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงไปอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาทจากระดับ 7.3 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2019

3 TH Q1 20 category top 10 TNA

10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด

ในช่วงไตรมาสแรกมีเพียงกลุ่มกองทุนจำนวน 13 กลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้าในระดับพันล้านบาท และมีเพียงกลุ่ม Money Market, Moderate Allocation และ Property Indirect ที่เป็นการลงทุนในประเทศ สำหรับกลุ่ม Money Market ที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 1.0 แสนล้านบาท ซึ่งอาจเกิดจากเงินไหลเข้าจากการสับเปลี่ยนเข้าจากกองทุน term fund หรือการขายหน่วยลงทุนกองทุนประเภทอื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่ม Moderate Allocation มีเงินไหลเข้าสุทธิเป็นอันดับสอง โดยมีเงินไหลเข้าจากกองทุนใหม่เป็นหลักคือกองทุน SCB Smart Income Plus (Acc) และ SCB Diversified Income Plus (Acc) รวมมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้กองทุน SCB Smart Income Plus (Acc) เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ณ สิ้นไตรมาสแรก ในขณะที่กองทุนอื่นในกลุ่มนี้มีเงินไหลออกสุทธิเป็นส่วนใหญ่

กองทุนกลุ่ม Global Technology และ China Equity มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 3 และ 4 ซึ่งมีลักษณะเงินไหลเข้าจากกองทุนเปิดใหม่เช่นกัน โดยกองทุน Thanachart Eastspring Global Technology เป็นกองทุนเปิดใหม่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในกลุ่ม Global Technology ราว 5.3 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุน TMB Eastspring China A Active เป็นกองทุนใหม่ในกลุ่ม China Equity มีเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากกองทุน Krungsri China A Shares Equity A ด้วยเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 1.6 พันล้านบาท
สำหรับกองทุนกลุ่มอื่นนั้นมีมูลค่าเงินไหลเข้าค่อนข้างต่ำที่ระดับ 1 พันกว่าล้านบาท หากดูในรายเดือนจะพบว่ากลุ่มกองทุนเหล่านี้เริ่มมีทิศทางเป็นเงินไหลออกสุทธิในเดือนมีนาคมที่สถานการณ์ COVID-19 เริ่มรุนแรงขึ้น หลังจากที่มีเงินไหลเข้าสุทธิในเดือนมกราคาและกุมภาพันธ์ติดต่อกัน

กลุ่มกองทุน Short Term Bond เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด -2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันถึงปริมาณการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนจาก บลจ. ทหารไทยซึ่งเป็นเหตุให้มีการปิดกองทุน ได้แก่กองทุนเปิดทหารไทยธนไพศาล กองทุนเปิดทหารไทยธนพลัส และกองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2019 ทั้ง 3 กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันกว่า 1.8 แสนล้านบาท หลังจากมีการประกาศปิดกองทุนในเดือนมีนาคม มูลค่าเงินลงทุนในส่วนนี้จึงได้หายไปจากกลุ่ม นอกจากนี้กองทุนจาก บลจ. อื่นในกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกันทำให้ในเดือนมีนาคมมีมูลค่าเงินไหลออกสุทธิรวม -3.1 แสนล้านบาท

กลุ่ม Mid/Long Term Bond เป็นอีกกลุ่มกองทุนที่มีการเลิกกองทุนคือ กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ โดย ณ 31 ธันวาคม 2019 กองทุนนี้มีมูลค่าทรัพย์สินที่ 6.4 หมื่นล้านบาท จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าเงินไหลออกสุทธิของกลุ่มกองทุนนี้ค่อนข้างสูง

สำหรับกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีเงินไหลออกสุทธิ -5.5 พันล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกในเดือนมีนาคมราว -5.1 พันล้านบาท โดยเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนอย่างมาก อย่างไรก็ตามในปีนี้มีเม็ดเงินขายกองทุน LTF ที่ต่ำกว่าในอดีต โดยเงินลงทุนที่ขายได้ในปีนี้เป็นเงินลงทุนในปี 2015 หรือเก่ากว่าซึ่งอาจเป็นช่วงที่ดัชนี SET Index อยู่ในระดับที่สูงกว่าในปัจจุบัน

4 TH Q1 20 category top net flow

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar