กองทุนหุ้นไทย และกองทุน SSF, RMF, LTF

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF และ SSFX)  และกองทุน SSF, RMF, LTF

Morningstar 14/07/2563
Facebook Twitter LinkedIn

ตลาดกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF และ SSFX) ยังมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 16.2% จากเดือนมีนาคม 2020 โดยเกิดจากการปรับตัวขึ้นดัชนี SET Index เป็นหลัก เพราะถ้าหากดูที่ทิศทางของ flow จะพบว่าในไตรมาสที่ 2 ยังคงเป็นเงินไหลออกสุทธิราว -2.6 พันล้านบาท รวม 6 เดือนแรกเป็นเงินไหลออกสุทธิ -8.7 พันล้านบาท

หากดูที่มูลค่าทรัพย์สินราย บลจ. จะพบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนี โดย บลจ. ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 20.4% ไปที่ 4.6 หมื่นล้านบาท และยังคงเป็นผู้นำในตลาดนี้ ขณะเดียวกันบลจ. บัวหลวง, บลจ. กรุงศรี และบลจ. กสิกรไทยก็มีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินที่ใกล้เคียงกันคือ 17.7%, 17.5% และ 19.4% ตามลำดับ จากการที่ทั้ง 3 บลจ. มีการเคลื่อนไหวของ flow เพียงเล็กน้อย ในขณะที่ บลจ. ธนชาต มีมูลค่าทรัพย์สินเติบโตเพียง 2.5% เป็นผลจากมีเงินไหลออกสุทธิมากกว่า บลจ. อื่น ที่ -2.7 พันล้านบาท ที่มาจาก 3 กองทุนคือ Thanachart Dividend Stock, Thanachart Dividend Stock 2 และ Thanachart Smart Beta

2020 07 14 17 22 23 TH Eq ex tax

กองทุน SSF

กองทุน SSF ถือว่าได้รับความสนใจค่อนข้างน้อยจากผู้ลงทุน ซึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในกองทุน SSFX ก่อน โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 252 ล้านบาท จากจำนวน 37 กองทุน โดยมีกองทุน Krungsri Enhanced SET50 SSF เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 36.4 ล้านบาท

ถึงแม้ว่ากองทุน SSF จะมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ แต่ บลจ. ส่วนใหญ่ยังคงเลือกออกกองทุนในกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักลงทุนคุ้นเคย โดยมีสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สิน 45% ของมูลค่ากองทุน SSF ทั้งหมด ตามมาด้วยกลุ่มหุ้นต่างประเทศ Global Equity ที่ 19% จากกราฟจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของเงินลงทุนในกองทุน SSF ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ใน 5 กลุ่มแรก หรือ 91% ของตลาดกองทุน SSF

ทางด้านส่วนแบ่งตลาดราย บลจ. มีบลจ.กรุงศรี ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 38% ตามมาด้วย บลจ. กสิกรไทย 37% รวม 2 รายนี้เป็น 75% สำหรับบลจ. รายใหญ่รายอื่นนั้นอาจเน้นขายกองทุน SSFX ก่อน โดยหลังจากหมดช่วงขายกองทุน SSFX แล้วพบว่าเริ่มมีการออกกองทุน SSF เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกอีกเป็นจำนวนมาก

2020 07 14 17 26 35 Q2 20 SSF

กองทุนกลุ่ม LTF และ RMF

ณ สิ้นเดือนมิถุนายนกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.5 แสนล้านบาท ลดลง -14.3% จากสิ้นปีที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 14.8% ตามมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน โดยกองทุน LTF มีเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสที่ 2 ราว -2.3 พันล้านบาท น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ -7.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต รวมทั้งยังไม่มีจำนวนเงินกองทุนรอบใหม่ที่จะครบกำหนดขายคืนได้ครั้งแรกในปีนี้ จึงยังมีแรงขายกองทุน LTF ที่จำกัด

กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.9 ล้านบาท ลดลง -4.9% จากสิ้นปี 2019 แต่สูงขึ้นจากไตรมาสแรก 10.0% มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 พันล้านบาท โดยกลุ่ม RMF – Equity มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.3 แสนล้านบาท สูงขึ้น 18.0% จากไตรมาสก่อนหน้าตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีเงินไหลเข้าสุทธิช่วงครึ่งปีรวม 1.4 พันล้านบาท กลุ่ม RMF – Fixed Income มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.7 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิครึ่งปีแรก 3.3 พันล้านบาท กลุ่ม RMF – Allocation มีเงินไหลออกสุทธิเล็กน้อย -379 ล้านบาท กองทุน RMF – Other ที่ลงทุนในทองคำมีเงินไหลออกสุทธิช่วงครึ่งปีแรกมากกว่าในอดีตที่ -1.1 พันล้านบาท จากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงที่สินทรัพย์ประเภทอื่นอาจให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก

2020 07 14 17 28 09 Q2 20 LTF RMF TNA

2020 07 14 17 29 01 Q2 20 LTF RMF Flow

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar