ข้อควรพิจารณาก่อนลงทุนในทองคำ

ทองคำที่เป็นเหมือน safe haven หรือเป็นส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อนั้นความจริงแล้วเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมาดูข้อมูลสถิติที่น่าสนใจกันค่ะ

Morningstar 30/07/2563
Facebook Twitter LinkedIn

ปีนี้ทองคำถือเป็นดาวเด่นในด้านผลตอบแทนเลยก็ว่าได้ เพราะจาก 6 เดือนที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 25% ไปทำสถิติสูงกว่า 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทางด้านกองทุนทองคำระดับโลกอย่าง SPDR Gold Shares (กองทุน ETF ที่กองทุนรวมทองคำไทยส่วนใหญ่เข้าลงทุน) มีเงินไหลเข้าสุทธิมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินกองทุนสูงขึ้นราว 30% แต่ในช่วงที่สินทรัพย์ชนิดนี้อยู่ในช่วงร้อนแรง คำถามที่ตามมาก็คือเรายังควรลงทุนทองคำหรือไม่ ในบทความนี้จะมาพูดถึงบทบาทของทองคำในพอร์ตและสาเหตุที่เราควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการลงทุนทองคำในช่วงนี้

ผลตอบแทนจากทองคำในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

ในอดีตทองคำสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงตลาดการลงทุนมีผลตอบแทนตกต่ำและมีความผันผวนสูงผิดปกติ จากตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่าทองคำสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในหลายช่วงเวลา รวมทั้งมีผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงที่ตลาดหุ้น (S&P 500 TR USD) มีผลตอบแทนติดลบสูง

2020 07 30 22 29 33 gold during downturn

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปีอาจเป็นกรณีที่ต่างจากในอดีตเล็กน้อย เพราะราคาทองคำมีการปรับตัวลงในช่วงสั้น ๆ พร้อมกับตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยเช่น แรงเทขายหรืออัตราดอกเบี้ยที่อาจมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากเดือนมีนาคมเป็นต้นมาราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหรือกว่า 10% เฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

ทองคำกับอัตราเงินเฟ้อ

จากผลตอบแทนที่ต่างจากสินทรัพย์อื่น จึงทำให้ทองคำมักถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แต่หากดูข้อมูลในอดีตจะพบว่ามีภาพที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่นในช่วงปี 1970 ที่ทองคำมีผลตอบแทนที่ดีมาก (31.77%) ซึ่งอยู่ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐฯ แต่ในช่วงที่เงินเฟ้อต่ำหรือช่วงต้นและช่วงปลายของยุค 80 นั้นทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ (-10.06% และ -7.58%) ซึ่งต่างจากผลตอบแทนในการลงทุนหุ้นค่อนข้างมาก นอกจากนี้จากสถิติในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาทองคำกับเงินเฟ้อนั้นมีค่า correlation coefficient ที่ 0.07 ซึ่งบอกได้ว่าความสัมพันธ์ของราคาทองคำกับอัตราเงินเฟ้อนั้นถือว่าค่อนข้างต่ำ ฉะนั้นการใช้ทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้ออาจทำให้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

2020 07 30 22 30 29 gold and inflation hedge

ทองคำช่วยสร้างผลตอบแทนให้ดีขึ้นได้หรือไม่

หากมองย้อนไปที่ผลตอบแทนและความเสี่ยงในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาอาจบอกได้ว่าการเพิ่มสัดส่วนลงทุนในทองคำอาจช่วยในแง่ของผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง โดยทางมอร์นิ่งสตาร์ได้ลองทดสอบพอร์ตการลงทุนโดยเริ่มที่พอร์ตพื้นฐานที่มีสัดส่วนหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% แล้วปรับพอร์ตให้แตกต่างออกไปโดยการเพิ่มสัดส่วนทองคำในส่วนของหุ้น ซึ่งผลปรากฏว่าพอร์ตที่มีสัดส่วนทองคำมากกว่ามีความผันผวนน้อยกว่า และมีค่า Sharpe ratio (ผลตอบแทนส่วนเกินเทียบกับความเสี่ยง) ที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตามหากปรับวันเริ่มต้นของพอร์ตให้ต่างออกไปเป็นปี 1980 จะพบว่าการเพิ่มสัดส่วนทองคำจะลดผลตอบแทนในช่วง 10 ปีต่อมา ซึ่งแม้ว่าจะช่วยลดความผันผวนได้แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยเพื่อให้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงนั้นดีขึ้น

จากผลที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา มอร์นิ่งสตาร์จึงได้ทดลองเปรียบเทียบพอร์ตพื้นฐาน (60:40) กับพอร์ตที่มีสัดส่วนทองคำ 15% โดยแบ่งเป็น 5 ช่วงเวลา ช่วงละ 10 ปีคือ ตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2020 โดยพบว่าการเพิ่มสัดส่วนทองคำนั้นช่วยสามารถลดความเสี่ยงได้ในทุกช่วงเวลาแต่ช่วยให้มีผลตอบแทนและค่า Sharpe ratio ที่สูงกว่าเพียง 2 ช่วงเวลา

สรุปแล้วจะลงทุนทองคำอย่างไร

จากข้อมูลทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ว่าทองคำอาจไม่ใช่การการันตีว่าจะช่วยลดความเสี่ยง หรือให้ผลตอบแทนหรือผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงที่ดีขึ้นในช่วงเวลาใด ๆ เพราะจากข้อมูลย้อนหลังในภาพด้านล่างนี้จะเห็นได้ว่าผลตอบแทน 36 เดือนย้อนหลัง (rolling returns) เทียบกับ S&P 500 นั้นมีหลายช่วงเวลาที่ทองคำให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า

2020 07 30 22 31 10 gold vs Sn P500 rolling

ฉะนั้นการถือครองทองคำในพอร์ตนั้นอาจยังคงเป็น safe haven ในช่วงตลาดผันผวนอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ตามควรเป็นในลักษณะของการลดความเสี่ยงบางส่วนมากกว่าถือเป็นส่วนหัวใจสำคัญของพอร์ต นักลงทุนที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนทองคำในพอร์ตควรระมัดระวังกับภาวะตลาดที่ราคาปรับขึ้นเร็วและร้อนแรงจนทำให้อาจเกิดแรงขายออกมาได้ในอนาคต

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar