กองทุนผลตอบแทนสูงสุดเดือนกรกฎาคม

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากองทุนใดมีผลตอบแทนสูงสุด และกองทุนเหล่านั้นลงทุนอะไร มาติดตามกันค่ะ

Morningstar 06/08/2563
Facebook Twitter LinkedIn

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กองทุน We Gold and Silver Equity (WE-GOLD) จาก บลจ. วี เป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงสุดที่ 25.8% กองทุนนี้เป็นกองทุนรวมฟีดเดอร์ (feeder fund) ที่ลงทุนในหน่วยลงทุน Merian Gold & Silver Fund Class I (USD) ซึ่งต่างจากกองทุนในกลุ่ม Commodities Precious Metals ที่เป็นการลงทุนใน ETF ที่ถือครองทองคำและผลตอบแทนจะเป็นไปตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ในขณะที่กองทุนลักษณะนี้เป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทองคำและเงิน (แร่เงิน) เช่น การทำเหมืองแร่ จากราคาทองคำและเงินที่ปรับตัวขึ้นมานี้เองทำให้ธุรกิจนี้ได้ประโยชน์จากการมีกำไรมากขึ้นหรือมูลค่าโครงการเหมืองแร่ต่าง ๆ สูงขึ้น สะท้อนไปที่มูลค่าหุ้นและกองทุนนั่นเอง

นอกจากกองทุนนี้แล้วยังมีอีก 2 กองทุนจาก บลจ. กรุงไทย ที่มีลักษณะคล้ายกันคือ KTAM World Gold and Precious Equity (KT-PRECIOUS) และ KTAM World Metals and Mining (KT-MINING) โดยเป็นการลงทุนในหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ทองคำ โลหะมีค่า หรือแร่เหล็กชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาจมีส่วนการลงทุนที่ได้ประโยชน์จากทิศทางราคาทองคำเช่นกัน ทำให้ผลตอบแทนทั้ง 2 กองทุนนี้มีผลตอบแทนในรอบเดือนกรกฎาคมสูงถึง 16.4% และ 14.8% ตามลำดับ

2020 08 06 15 42 18 top 10 July TH

กองทุน ONE Global E-Commerce (ONE-GECOM) จาก บลจ. วรรณ เป็นกองทุนผลตอบแทนสูงสุดอันดับที่ 2 ด้วยผลตอบแทน 18.4% โดยลงทุนในหน่วยลงทุน Amplify Online Retail ETF (IBUY) ที่ได้มอร์นิ่งสตาร์เรตติ้งระดับ 5 ดาว โดยกองทุน ETF นี้มีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้า-บริการออนไลน์ที่มีความหลากหลาย เช่น ของใช้ในบ้าน ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ บริการสั่งอาหารออนไลน์ สตรีมมิ่ง ไปจนถึงผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหาคู่ จากหลายธุรกิจที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าต่างก็เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากช่วง lockdown ในหลายประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทุนนี้จะมีผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างมาก ซึ่งกองทุน ONE-GECOM เป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนสะสมสูงสุดในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ที่ 63.8%

แม้ในปีนี้กองทุนหุ้นไทยอาจมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ แต่ก็ยังมีกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกองทุนต่างประเทศ ได้แก่ กองทุน Asset Plus Small and Mid Cap Equity (ASP-SME) และ Asset Plus Small and Mid Cap Eq LTF-T (ASP-SMELTF-T) ซึ่งเป็นกองทุนในกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยมีผลตอบแทนเดือนกรกฎาคมที่ 14.3% และ 13.4% ตามลำดับ ทำให้ผลตอบแทนสะสม 7 เดือนแรกอยู่ที่ 12% ในขณะที่กลุ่ม Equity Small/Mid-Cap มีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -6.7%

กองทุนกลุ่ม China Equity เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปีนี้ จากในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 2 หมื่นล้านบาทซึ่งถือว่าสูงสุดในกลุ่มกองทุนตราสารทุน กองทุน UOB Smart Greater China (UOBSGC) เป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงสุดที่ 14.0% ภาพรวมในปีนี้กองทุนหุ้นจีนถือว่ามีผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี โดยใน 7 เดือนแรกมีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมราว 8% จากการที่ประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด รวมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้รวดเร็ว

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแม้สถานการณ์ Covid-19 จะยังไม่คลี่คลายและทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลง แต่ก็ยังมีกองทุนที่ได้ประโยชน์และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงวิกฤตการณ์นี้ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ นักลงทุนที่สนใจอาจลองเริ่มศึกษาข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศ โดยเริ่มจากการลงทุนที่เข้าใจง่ายเช่น หุ้นต่างประเทศ หรือสอบถามไปยัง บลจ. เกี่ยวกับกองทุนที่สนใจเพื่อรับทราบข้อมูลหรือคำแนะนำเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนได้อีกด้วยค่ะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar