เม็ดเงินกองทุนยั่งยืนทั่วโลก

ทิศทางการเคลื่อนไหวเงินกองทุนยั่งยืนทั่วโลกเป็นอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา วันนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์รวบรวมข้อมูลมาให้ติดตามกันค่ะ

Morningstar 10/09/2563
Facebook Twitter LinkedIn

หากมองย้อนไปในอดีตจะพบว่ามูลค่าทรัพย์สินกองทุนยั่งยืนมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการย่อตัวลงไปบ้างในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ไปอยู่ที่ระดับ 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามูลค่าทรัพย์สินกองทุนยั่งยืนหรือกองทุน ESG ทั่วโลกแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโต 23% จากไตรมาสแรก

2020 09 10 15 43 24 Glb Sust flow Q2 20

2020 09 07 15 46 23 ex 3 global sust fund flows Q2 20ในไตรมาสที่ 2 กองทุนยั่งยืนมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นเม็ดเงินในโซนยุโรปถึง 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 86% จากปริมาณเงินทุนของกองทุน ESG ในยุโรปที่สูง ทำให้ภูมิภาคนี้ยังเป็นผู้นำด้านกองทุน ESG ที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 8.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็น 82% ของกองทุน ESG ทั่วโลก โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกราว 20% ในขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนมีการเติบโต 11%

2020 09 07 15 45 03 ex 1 global sust fund flows Q2 20

ทางด้านสหรัฐอเมริกาปัจจุบันมีกองทุนยั่งยืนทั้งหมด 315 กองทุน (รวมกองทุนเปิดและ ETF) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของปริมาณเงินไหลเข้ากองทุน ESG ทั่วโลก ทั้งนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุน Passive fund ราว 62% ลดลงจากไตรมาสแรกที่เป็นเงินไหลเข้ากองทุน Passive fund ถึง 80% กองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯ มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีขนาดเทียบเท่ากับทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย

ด้านประเทศญี่ปุ่นแม้จะยังมีมูลค่ากองทุนยั่งยืนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับตลาดใหญ่ในประเทศอื่น ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดสำคัญในทวีปเอเชีย โดยล่าสุดมีมูลค่ากองทุนยั่งยืนรวม 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนประเภท Active fund กว่า 90% อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นเงินจากกองทุน ETF เป็นหลัก

(หมายเหตุ ข้อมูลที่กล่าวมานี้เป็นข้อมูลจากกองทุนเปิดจำนวน 3,432 กองทุนทั่วโลกที่มีการใช้เกณฑ์ ESG เป็นหัวใจสำคัญในการเลือกหลักทรัพย์ที่ลงทุนและ/หรือ ระบุว่ามีเป้าหมายที่จะลงทุนโดยมีหลักที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและ/หรือมุ่งหวังการลงทุนเพื่อผลกระทบเชิงบวกควบคู่ไปกับผลตอบแทนทางการเงิน ทั้งนี้ไม่รวมกองทุนตราสารตลาดเงิน ฟีดเดอร์ฟันด์ และกองทุนรวมหน่วยลงทุน)

การปรับเกณฑ์การรายงานข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีประกาศจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ซึ่งบริษัทจดทะเบียนจะมีข้อมูลในรายงาน 56-1 (ที่จะมีการปรับเกณฑ์) ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้ผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนสถาบันรับทราบแนวทางหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อย่างชัดเจนและเปรียบเทียบกันได้มากขึ้น และจะช่วยให้การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมีข้อมูลประกอบการพิจารณามากขึ้น

สำหรับด้านกองทุนรวมไทยในปีนี้มีกองทุนยั่งยืนเปิดขายมากขึ้น ที่มีทั้งแบบการลงทุนหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศเช่น กองทุนเปิดกรุงไทยก่อการดี (บลจ. กรุงไทย) ที่ในปีนี้มีการเปิดแบบกองทุน SSF, กองทุนเปิดภัทร SET ESG (บลจ. ภัทร), กองทุนเปิดอินโนเทค หุ้นไทยยั่งยืนซิสเทมาติก (บลจ. อินโนเทค), กองทุนเปิด ยูไนเต็ด อิควิตี้ ซัสเทนเนเบิล โกลบอล ฟันด์ (บลจ. ยูโอบี) และ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี รีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี (บลจ. เอ็มเอฟซี) นอกจากนี้ยังมีกองทุนจากบลจ.กสิกรไทย คือ กองทุนเปิดเค Climate Transition ที่ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการเสนอขายครั้งแรก

แม้การลงทุนในกองทุนยั่งยืนของประเทศไทยหรือแถบเอเชียจะยังไม่กว้างขวางหรือมีตลาดขนาดใหญ่นักเมื่อเทียบกับทางยุโรปหรืออเมริกา แต่ก็ถือว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ นักลงทุนอาจลองเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนยั่งยืนได้จากหน้า Sustainable Investing เพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนพิจารณาลงทุนกองทุนยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตและมีตัวเลือกให้นักลงทุนมากขึ้นในอนาคต

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar