การเปิดเผยข้อมูลกองทุนรวมทั่วโลก

ผลการศึกษาการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมทั่วโลกของมอร์นิ่งสตาร์พบว่า อินเดียและสหรัฐอเมริกาได้คะแนนสูงสุด และประเทศไทยยังคงรักษามาตรฐานที่ระดับ Above Average

Morningstar 15/12/2563
Facebook Twitter LinkedIn

มอร์นิ่งสตาร์เปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาในหัวข้อที่สามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประสบการณ์การลงทุนทั่วโลก Global Investor Experience (GIE) ที่จัดทำขึ้นทุก ๆ 2 ปี ในรายงานการศึกษาครั้งที่ 6 นี้เป็นการประเมินประสบการณ์ของผู้ลงทุนกองทุนรวม 26 ตลาดทั่วโลกในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา หัวข้อ “การเปิดเผยข้อมูล” (Disclosure) ประเมินแต่ละตลาดใน 6 มิติหลัก โดยในปีนี้มีการเพิ่ม 2 มิติใหม่คือ การเปิดเผยข้อมูลด้านการขาย และการเปิดเผยข้อมูล ESG และ Stewardship

การให้คะแนนแบ่งออกเป็นระดับ Top, Above Average, Average, Below Average และ Bottom โดยมอร์นิ่งสตาร์ให้คะแนนระดับ Top แก่ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่เป็นมิตรกับนักลงทุนมากที่สุดในแง่ของแนวปฏิบัติที่ดีในการเปิดเผยข้อมูลเช่น ชื่อ การถือครองหน่วยลงทุน และค่าตอบแทนของผู้จัดการกองทุน ในทางตรงกันข้ามมอร์นิ่งสตาร์ให้คะแนนระดับ Bottom แก่ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเพียงตลาดเดียวที่ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตโฟลิโอและยังคงต้องพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และ Stewardship เพื่อให้ทัดเทียมต่อความคาดหวังของนักลงทุนที่สูงขึ้น

Christina West, ดำรงตำแหน่ง Director of Manager Research Services ของมอร์นิ่งสตาร์และหนึ่งในผู้เรียบเรียงรายงานผลการศึกษานี้กล่าวว่า “ตลาดกองทุนรวมทั่วโลกส่วนใหญ่มีพัฒนาการด้านการเปิดเผยข้อมูลโดยมีอินเดียและสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ขณะที่อีก 6 ตลาดได้แก่ แคนาดา เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย แอฟฟริกาใต้ และสวีเดน ได้คะแนนระดับ Above Average ด้านฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นประโยชน์ของการปรับมาตรฐานในโซนยุโรป รวมทั้งแอฟริกาใต้ก็มีคะแนนดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่ออสเตรเลียยังเป็นตลาดที่ขาดแรงกดดันจากอุตสาหกรรมหรือ political will ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข”

“มอร์นิ่งสตาร์ยินดีอย่างยิ่งที่จะนำเสนอการพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มอีก 2 มิติในการศึกษารอบนี้ซึ่งก็คือ การเปิดเผยข้อมูลด้านการขายและ การเปิดเผยข้อมูล ESG และ Stewardship โดยพิจารณาว่าผู้ให้คำแนะนำทางการเงินต้องมีการเปิดเผยข้อมูลความขัดแย้งทางผลประโยชน์และมีการเปิดแผยเอกสารกองทุน ณ จุดขายหรือไม่ การเปิดเผยข้อมูล ESG และ Stewardship เป็นอีกส่วนสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ และเราได้ประเมินว่าในแต่ละตลาดมีเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG หรือ stewardship code หรือไม่ เพื่อพิจารณาประกอบกรณีมีการแสดงความเป็นกองทุนสีเขียวและการมีแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน”

Disclosure scorecard

แผนภาพที่ 2 จากรายงานการศึกษาประสบการณ์การลงทุนทั่วโลกหัวข้อ การเปิดเผยข้อมูล แสดงคะแนนของแต่ละตลาด

รายงานการศึกษาหัวข้อการเปิดเผยข้อมูลสามารถดูได้ที่นี่ โดยประเด็นสำคัญมีดังนี้

อินเดียและสหรัฐอเมริกายังคงได้คะแนนระดับ Top จากการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสทั้ง 6 มิติ สหรัฐอเมริกายังคงรักษามาตรฐานการเป็นผู้นำด้านการเปิดเผยข้อมูล ในขณะเดียวกันอินเดียได้มีการเพิ่มมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีมาตรฐานที่สูงโดยเฉพาะในการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตโฟลิโอที่เป็นแบบรายเดือน

ออสเตรเลียเป็นเพียงตลาดเดียวที่ได้คะแนนระดับต่ำสุดในด้านการเปิดเผยข้อมูลจากจำนวน 26 ตลาดทั่วโลกที่มีการศึกษาข้อมูลในครั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นตลาดที่พัฒนาแล้วเพียงตลาดเดียวที่ไม่มีเกณฑ์หรือข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตการลงทุน Australian Corporations Act ที่ปรับเกณฑ์ให้ super trustees ต้องเปิดเผยข้อมูลพอร์ตการลงทุนในแบบออนไลน์นั้น เคยมีกำหนดบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 แต่มีการเลื่อนกำหนดออกไป ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์มาแล้ว 3 ครั้งในปี 2017 2016 และ 2015

สิงคโปร์และสวิตเซอร์แลนด์ได้คะแนนระดับต่ำลงไปที่ Below Average ซึ่งเป็นระดับเดียวกับ เบลเยี่ยม อิตาลี และญี่ปุ่น โดยตลาดเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกันคือไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการถือครองหน่วยลงทุนของผู้จัดการกองทุน ไม่มีเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลค่าธรรมเนียมที่เป็นลักษณะตัวเงินในหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม และมีเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลพอร์ตการลงทุนฉบับเต็มที่น้อยครั้งกว่ามาตรฐานทั่วโลก

กฎเกณฑ์ทั่วโลกควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล ESG ให้มากขึ้นเพื่อแจ้งให้นักลงทุนเข้าใจและเปรียบเทียบได้ ซึ่งข้อนี้ถือเป็นจุดเด่นของภูมิภาคยุโรป โดยมีสวีเดนเป็นผู้นำด้านการเปิดเผยข้อมูล ESG จากการมีข้อบังคับที่ชัดเจน นอกจากโซนยุโรปแล้ว ฮ่องกงยังมีการเปิดเผยรายชื่อกองทุนสีเขียวในเว็บไซต์สำนักงานกำกับหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเริ่มสร้างผลกระทบที่ชัดเจนที่ช่วยให้นักลงทุนทราบได้ง่ายว่ากองทุนใดเป็นไปตามมาตรฐาน/เกณฑ์ ESG ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงตามหลังในด้านนี้จากที่ไม่มีเกณฑ์หรือมาตรฐานเฉพาะเกี่ยวกับ ESG ที่กำหนดโดยภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มอร์นิ่งสตาร์เชื่อว่าหลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดนั้นมีรากฐานจากความโปร่งใส โดยความโปร่งใสเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และบริษัทจัดการลงทุนที่บริหารทรัพย์สินของผู้ลงทุน

ทั้งนี้ประเทศไทยยังคงรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลมาต่อเนื่องจากการศึกษาในรอบปี 2017 ที่ระดับ Above Average หน่วยงานกำกับดูแลของไทยยังคงให้ความสำคัญกับการบังคับใช้เกณฑ์และเปิดเผยข้อมูลด้าน stewardship เห็นได้จากบริษัทจัดการต้องใช้สิทธิ์ลงคะแนนในประเด็นสำคัญแทนผู้ลงทุนและเปิดเผยการใช้สิทธิ์นั้นให้ผู้ลงทุนรับทราบ ขณะที่พัฒนาการของเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG ของกองทุนรวมยังอาจต้องใช้เวลา แต่ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากด้านบริษัทจดทะเบียนโดยทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลนโยบายด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนในแบบ 56-1 รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2021 เป็นต้นไป

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar