การกลับมาของ Trigger Fund

Trigger fund ปัจจุบันกับในอดีตนั้นมีภาพต่างกันอย่างไร และนักลงทุนควรคำนึงถึงปัจจัยใดก่อนลงทุนกองทุนลักษณะนี้บ้าง มาติดตามกันค่ะ

Morningstar 18/02/2564
Facebook Twitter LinkedIn

ลักษณะของ Trigger fund

กองทุนทริกเกอร์ (Trigger fund) มีลักษณะสำคัญคือ มีการกำหนดเงื่อนไขการเลิกกองทุนหากได้ผลตอบแทนตามที่กำหนดและผู้ลงทุนไม่สามารถขายหน่วยลงทุนภายในเวลาที่ระบุไว้ เช่น กำหนดว่ากองทุนจะเลิกเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10.5 บาท หรือเทียบเท่าเป็นผลตอบแทน 5% โดยผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนในช่วง 8 เดือนแรกนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน เป็นต้น

การเปิดขายกองทุนทริกเกอร์ในอดีต

วิกฤติการณ์ทางการเงินในช่วงปี 2008 ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างมาก และหลังจากนั้น 2-3 ปีถัดมาเศรษฐกิจได้มีการฟื้นตัวขึ้น จึงทำให้มีการเปิดกองทุน trigger fund กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจเกิดจากมุมมองว่าเป็นช่วงต่ำสุดของวิกฤติและถือเป็นโอกาสการลงทุนในช่วงฟื้นตัว ทำให้หลายกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้เข้าเงื่อนไขการเลิกกองทุน แต่ในช่วงปี 2015 เป็นต้นมา กองทุนทริกเกอร์ที่เปิดใหม่เริ่มมีจำนวนลดลงลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของการลงทุนที่อาจมีกรอบขาขึ้นที่จำกัด จนอาจทำให้ยังคงมีบางกองทุนที่เปิดขายในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่สามารถปิดกองทุนได้ตามเงื่อนไข

trigger1

กองทุนทริกเกอร์ในปัจจุบัน

ต่อมาในช่วงปี 2020 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การลงทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบ หลายบลจ. จึงได้เริ่มกลับมาเปิดกองทุนทริกเกอร์อีกครั้ง แต่รูปแบบของกองทุนทริกเกอร์ในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นกองทุนผสม ต่างจากในอดีตที่มักจะเป็นกองทุนตราสารทุน แต่ยังคงมีความหลากหลายที่มีให้เลือกทั้งแบบลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ ด้านล่างเป็นการแสดงอายุกองทุนทริกเกอร์ที่เปิดในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา โดยในปี 2020 มีกองทุนทริกเกอร์เปิดใหม่ 20 กองทุน ซึ่งส่วนใหญ่มีการเปิดขายในช่วงครึ่งหลังของปี คงเหลือกองทุนที่ยังไม่ปิดอยู่จำนวน 4 กองทุน  จากภาพด้านล่างจะเห็นได้ว่าหลายกองทุนสามารถเลิกกองได้ตามเงื่อนไขในเวลาที่กำหนด (สีแดง) และในปี 2021 ยังคงมีกองทุนทริกเกอร์ทยอยเปิดใหม่ต่อเนื่อง กองทุนทริกเกอร์ในรอบการเปิดใหม่ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ปิดกอง (สีน้ำเงิน) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท

trigger2

ความเสี่ยงของ Trigger Fund

การลงทุนกองทุนทริกเกอร์มีลักษณะของการจับจังหวะการลงทุน ซึ่งหากทางผู้จัดการกองทุนสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำก็ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง แต่หากมูลค่าการลงทุนนั้นยังเป็นทิศทางขาขึ้นก็อาจทำให้เสียโอกาสในการรับผลตอบแทนต่อเนื่องได้ ยกตัวอย่างเช่น หากลงทุนในกองทุนกลุ่ม Global Equity ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 ถึงมกราคม 2021 จะสร้างผลตอบแทนสะสมเฉลี่ย 23% หรือเดือนสิงหาคมถึงมกราคมจะสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 16% จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ตลาดขาขึ้น หากลงทุนต่อเนื่องจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า

ในทางกลับกันหากกองทุนไม่สามารถเลิกได้ตามเวลาที่กำหนด จะทำให้นักลงทุนเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในกองทุนอื่น เนื่องจากกองทุนทริกเกอร์มีเงื่อนไขที่นักลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือชี้ชวน นอกจากนี้นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับค่าธรรมเนียม เนื่องจากการทุนทริกเกอร์มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่างไปจากกองทุนรวมทั่วไปที่อาจเป็นแบบเก็บทั้งจำนวนในช่วงแรกหรือเก็บตามระยะเวลาบริหารจริง ฉะนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจถึงรายละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้งค่ะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar