แนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน

การลงทุนแบบยั่งยืนหรือการลงทุนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เรามีแนวทางเบื้องต้นเพื่อช่วยในการเริ่มลงทุนแบบยั่งยืน หรือลงทุนโดยคำนึงถึง ESG

Morningstar 10/05/2564
Facebook Twitter LinkedIn

หากพูดถึงการลงทุนเพื่อการเกษียณหรือลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ละบริษัทก็มักจะมีกองทุนจำนวนมากมาให้พนักงานเลือกที่จะลงทุน ซึ่งอาจเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนตามกระแส หรือมีความผันผวนสูงก็เป็นได้ เราสามารถทำให้การลงทุนเพื่อการเกษียณมีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่

การลงทุนแบบยั่งยืนหรือการลงทุนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางทะเล หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการกระทำของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและมีผลกระทบต่อเราอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG อาจเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะแม้ว่ามีกองทุนมากมายที่เกี่ยวกับ ESG แต่ก็อาจไม่ได้เป็นตัวเลือกที่เหมาะกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ ซึ่งกองทุนที่เน้นลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นก็มีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย เช่น การไม่ลงทุนในธุรกิจยาสูบ หรือพลังงาน หรือลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจพลังงานทางเลือก เป็นต้น

ทั้งนี้ เรามีแนวทางเบื้องต้นเพื่อช่วยในการเริ่มลงทุนแบบยั่งยืน หรือลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมาย ESG หรือเรื่องที่เราอยากให้ความสำคัญ เพื่อเริ่มต้นวางแผนทางการเงิน ทั้งนี้ เมื่อกำหนดเป้าหมายหรือเรื่องที่เราให้ความสำคัญได้แล้วก็ให้เรียงลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย เพื่อเริ่มต้นการวางแผนลงทุนต่อไป
  2. เริ่มลงทุนในสิ่งที่เราให้คุณค่าหรือความสำคัญ ซึ่งช่องทางการลงทุนนั้นมีหลากหลายมาก ทำอย่างไรจึงจะเลือกได้ตรงตามความต้องการของเรา เช่น การเริ่มลงทุนโดยตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการลงทุนในบางบริษัท หรือตั้งใจลงทุนเฉพาะบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ อาจเริ่มดูจากแหล่งที่ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อช่วยกรองข้อมูลต่างๆให้แคบลง เช่น ข้อมูลจาก Morningstar ซึ่งได้มีการคัดเลือก ESG funds หรือETFs ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมาให้นักลงทุนได้ทำการศึกษาดูในเบื้องต้น
  3. เปลี่ยนความคิดใหม่เรื่องผลตอบแทนที่น้อยหากลงทุนแบบยั่งยืน เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีสถิติระบุชัดว่าการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ที่ดีจะแตกต่างไปจากบริษัทที่มี ESG ต่ำหรือไม่มี นอกจากนี้ในปี 2020 กองทุนที่ Morningstar จัดให้เป็นกองทุนในกลุ่มลงทุนอย่างยั่งยืนจำนวน 64 กองทุน ยังให้ผลตอบแทนที่ดีมากจากทั้งหมด 87 กองทุนอีกด้วย
  4. ทำการลงทุนแบบตัดเงินอัตโนมัติเป็นประจำ เนื่องจากทำให้เราประหยัดเวลา ลดความผิดพลาด ไม่ต้องยุ่งยาก ไม่ต้องคิดมาก และช่วยให้ไปถึงเป้าหมายของการลงทุน
  5. หมั่นทบทวนการลงทุน นักลงทุนส่วนใหญ่มักตัดสินใจลงทุนผิดพลาดจากการที่ดูพอร์ตการลงทุนบ่อยเกินไป เช่น รายวัน หรือไม่ก็ตัดสินใจลงทุนเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนมากๆ และเพื่อป้องกันความผิดพลาดดังกล่าวเราจึงควรกำหนดแผนการทบทวนพอร์ตการลงทุนให้สม่ำเสมอ เช่น ปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ต้องไม่ลืมที่จะทบทวนว่าพอร์ตการลงทุนของเราเป็นการลงทุนตามหลัก ESG หรือการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือไม่

นักลงทุนที่สนใจการลงทุนอย่างยั่งยืนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Sustainable Investing

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar