จะเป็นอย่างไรหากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

หากดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นจะมีผลต่อราคาพันธบัตร กองทุนตราสารหนี้และการลงทุนในหุ้นอย่างไร และจะเตรียมตัวกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไรบ้าง

Morningstar 31/05/2564
Facebook Twitter LinkedIn

นับว่าเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนควรจะทบทวนพอร์ตการลงทุนของตัวเองได้แล้ว เนื่องจากในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอย่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีนั้นปรับสูงขึ้น ก็ทำให้สินทรัพย์อย่างหุ้นที่เติบโตสูง (Growth stock) มีราคาปรับลดลง และราคาหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นคุณค่า (Value stock) ปรับเพิ่มขึ้นแทน เรามาดูกันว่าทำไมจึงมีความสัมพันธ์เช่นนี้ระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Bond yield) และราคาหุ้น และจะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนได้อย่างไรบ้าง

เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นทำไมราคาพันธบัตรจึงปรับลดลง

ในอดีตที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน และทำให้มูลค่าตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แต่ด้วยสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว การมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐทั้งมาตรการการคลังและการเงิน ประกอบกับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกังวลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากคาดว่าท้ายที่สุดธนาคารกลางสหรัฐจะต้องออกมาตรการเพื่อมาควบคุมเงินเฟ้อในอนาคต

Bond yield หรือ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ คิดมาจากอัตราดอกเบี้ยต่อปีของพันธบัตรหารด้วยราคาหรือมูลค่าของตราสารหนี้ในปัจจุบัน และด้วยสภาวะตลาดที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ราคาหรือมูลค่าพันธบัตรจึงปรับลดลงเนื่องจากถูกซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตั้งต้น เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้เพิ่มขึ้น

ผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้

จากช่วงต้นปีถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวไม่ว่าจะเป็นตราสารภาครัฐหรือเอกชนก็ตามให้ผลขาดทุนถึง 10% ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นกลับมีความผันผวนที่น้อยกว่ามาก ทำให้กองทุนหรือดัชนีที่ลงทุนล้อตามตราสารหนี้ระยะสั้นขาดทุนเพียง 1-2% เท่านั้น ดังนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวจึงมีความเสี่ยงจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น

Duration หรือ อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าปัจจุบันของกระแสดอกเบี้ยที่จะได้รับในอนาคต ซึ่งค่า Duration จะใช้บอกว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงจะทำให้ราคาตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่นั่นเอง 

ผลกระทบต่อตลาดหุ้น

อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นจะกระทบต่อการประเมินมูลค่าหุ้นในอนาคตให้มีมูลค่าลดลง เนื่องจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับมีมูลค่าลดลงจากการถูกคำนวณด้วยอัตราคิดลด (Discount rate) ที่มีอัตราสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั่นเอง

ปกติบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูง (Growth companies) มักจะมียอดขายที่เติบโตสูง แต่ก็ไม่แน่ว่าจะมีอัตรากำไรที่สูง บริษัทเหล่านี้จึงมีความผันผวนจากการประเมินมูลค่าที่สูงกว่าบริษัทที่มีความมั่นคงของรายได้และมีการจัดการต้นทุนได้ดีกว่า นอกจากนี้ระดับการก่อหนี้และอัตราการทำกำไรก็มีผลต่อการประเมินมูลค่ากิจการเช่นกัน ซึ่งบริษัทที่มีอัตราการเติบโตที่สูงก็จะถูกให้ความสำคัญที่ยอดขายของกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดหุ้นมักซื้อขายโดยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นหลัก ดังนั้น ความเชื่อมั่นที่เปลี่ยนแปลงไปในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงก็จะมีผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้นเหล่านี้อย่างมาก นอกจากนี้ บริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรต่ำและก่อหนี้เป็นจำนวนมาก ก็จะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นตามภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ต้นทุนในการออกตราสารหนี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้นเช่นกัน

การจัดสรรพอร์ตการลงทุน

นักลงทุนต้องเข้าใจสถานะการลงทุนของตัวเองให้ดีก่อน หากลงทุนในกองตราสารหนี้ที่เป็น Passive fund (อายุตราสารที่ลงทุนเฉลี่ยจะยาว) แม้ในอดีตอาจให้ผลตอบแทนที่ดีแต่จากนี้ไปอาจได้รับผลตอบแทนที่ลดลง แต่ก็ยังนับว่ามีการกระจายความเสี่ยงได้ดี หากรับความเสี่ยงได้มากขึ้นก็อาจลงทุนใน Active fund ซึ่งผู้จัดการกองทุนสามารถปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมต่อสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ และหากแนวโน้มตลาดหุ้นแย่ลงและเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงจะทำให้ราคาหรือมูลค่าตราสารหนี้ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้จึงเป็นการป้องกันความเสี่ยง

สำหรับการลงทุนในตราสารทุน นักลงทุนต้องเข้าใจสถานะการลงทุนว่าปัจจุบันลงทุนในหุ้นคุณค่าหรือหุ้นเติบโตสูง กองทุนที่ลงทุนเป็น Active หรือ Passive และที่สำคัญต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ไม่เน้นไปที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากไป ทั้งนี้ หากที่ผ่านมามีการลงทุนในหุ้นที่เป็น Growth companies ซึ่งได้รับผลตอบแทนที่ดีมาตลอดในอดีต แต่ตอนนี้อาจต้องหันกลับมาดู Value stock ที่ราคาหุ้นในตลาดยังไม่สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงกันบ้าง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar