สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 2-2021

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากไตรมาสแรก หรือ 5.4% จากธันวาคม 2020

Morningstar 12/07/2564
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากไตรมาสแรก หรือ 5.4% จากธันวาคม 2020 จากการเพิ่มขึ้นนี้ทำให้มูลค่าทรัพย์สินเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 4.3 ล้านล้านบาท หรือต่างกันราว 1 แสนล้านบาท โดยในรอบครี่งปีแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 9.3 หมื่นล้านบาท

กองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือสูงกว่าเดือนธันวาคม 2020 ราว 20% โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้ากองทุนรวมตราสารทุน 2.9 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.6 แสนล้านบาท ด้านกองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาสแรก โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.6 หมื่นล้านบาท แต่ในไตรมาสแรกเป็นเงินไหลออกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ในรอบครึ่งปีแรกเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท

01

จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมูลค่าทรัพย์สินกองทุนตราสารทุน ทำให้มีมูลค่าใกล้เคียงกับกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือมีส่วนต่างราว 6 หมื่นล้านบาท ประกอบกับผู้ลงทุนยังให้ความสนใจการลงทุนตราสารทุน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศอาจทำให้กองทุนตราสารทุนเป็นสัดส่วนหลักของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยได้ภายในปีนี้

กองทุนรวมตราสารตลาดเงินมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง 6% มาอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท จากเงินไหลออกสุทธิ 3.9 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา รวมเงินไหลออกสุทธิครึ่งปีแรก 9.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการสะท้อนเม็ดเงินที่ไหลกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงกว่าหลังจากมีเงินไหลเข้าในช่วงครึ่งปีแรกของ 2020 ที่มีเงินไหลเข้ากองทุนตราสารตลาดเงินสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท

02

กองทุนกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีเงินไหลออกสุทธิ 1.9 พันล้านบาทในไตรมาสล่าสุด สะสมครึ่งปีอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาที่ระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2018 ด้านราคาทองคำยังมีความผันผวนจากอัตราเงินเฟ้อ โดยมีการปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จึงทำให้มีแรงขายกองทุนทองคำราว 1 พันล้านบาทในช่วงดังกล่าว

10 อันดับกลุ่มกองทุนตาม Morningstar Category

หากดูแยกรายกลุ่มกองทุน Morningstar Category จะยังพบว่ากองทุน Money Market เป็นกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่สุดด้วยมูลค่า 6.6 แสนล้านบาท แต่เป็นมูลค่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยอาจเป็นการแสดงถึงเม็ดเงินที่กลับเข้าลงทุนในกองทุนอื่นที่มีเงินไหลออกในช่วงก่อนหน้า เช่นกองทุนตราสารหนี้

กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 3.4% แต่เพิ่มขึ้นจากมิถุนายนปี 2020 ที่ 2.9% โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 6.1 พันล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลออกจากกลุ่มนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินล่าสุดสูงเป็นอันดับสองที่ 6.4 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่ากองทุน Money Market เล็กน้อย ขณะเดียวกันกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Equity Small/Mid-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.3 หมื่นล้านบาท (อันดับที่ 17 ของอุตสาหกรรม) แม้จะมีผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนหุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก แต่ก็มีทิศทางเงินไหลออกเช่นกัน โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกเล็กน้อยราว 17 ล้านบาท รวม 6 เดือนไหลออกสุทธิ 1.8 พันล้านบาท

03

กองทุนกลุ่ม Short Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อนหน้าและ 20% จากไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 5.7 แสนล้านบาท หรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่ 5.8 แสนล้านบาท ในไตรมาสล่าสุดมีทิศทางกลับมาเป็นเงินไหลเข้าสุทธิและสูงสุดในไตรมาสที่สองรวม 3.5 หมื่นล้านบาท หลังจากมีเงินไหลออก 6.4 พันล้านบาทในไตรมาสแรก รวมครึ่งปีเป็นเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 รวม 2.9 หมื่นล้านบาท  กองทุน K SF Plus เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มที่มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และมีเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดที่ 2.0 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับกองทุนกลุ่ม Mid/Long Term Bond ที่พลิกกลับเป็นเงินไหลเข้าในไตรมาสล่าสุด 4.1 พันล้านบาท จากไตรมาสที่แล้วเงินไหลออกสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปีเป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือ 3.3% จากไตรมาสแรก และเป็นมูลค่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด กองทุน ttb smart port preserver เป็นกองทุนเปิดใหม่ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 2.1 พันล้านบาท

กองทุนกลุ่ม China Equity และ Global Equity เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 15.2% และ 14.4% ตามลำดับ แต่เงินไหลเข้ามีการชะลอตัวลงในไตรมาสล่าสุด กองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้า 1.6 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสแรกมีเงินไหลเข้ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับกองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.6 พันล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกที่มีเงินไหลเข้ากว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยรวม 2 กลุ่มนี้ยังคงเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดรอบครึ่งปีที่ 7.1 และ 5.1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

04

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar