การจัดระเบียบพอร์ตการลงทุน

หากถามว่าพอร์ตการลงทุนในปัจจุบันของเรานั้นดีพอหรือยัง อาจถึงเวลาที่เราต้องทำการจัดระเบียบสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ ใหม่ การเหลือไว้แต่สินทรัพย์ที่ดีโดยลดจำนวนสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ให้น้อยลง ก็จะช่วยให้นักลงทุนสามารถตีกรอบการลงทุนได้ชัดเจน ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และจดจ่อกับสิ่งที่ลงทุนอยู่ได้มากขึ้น

Morningstar 02/08/2564
Facebook Twitter LinkedIn

การจัดระเบียบพอร์ตโฟลิโอนั้น ให้แยกดูว่าสินทรัพย์ใดเป็นส่วนที่ดีที่ควรเก็บไว้ ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่เราลงทุนอยู่เท่านั้นแต่ต้องเป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อผู้ลงทุนด้วย เช่น ช่วยให้ผู้ลงทุนไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ หรือสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้น สร้างรายได้ หรือความมั่นคงให้กับผู้ลงทุน ดังนั้น การตรวจสอบพอร์ตโฟลิโออย่างแรกที่ต้องทำคือ พิจารณาดูว่าสินทรัพย์ไหนควรเก็บไว้ลงทุนต่อ และอันไหนที่เราควรเอาออกไปจากพอร์ตโฟลิโอ

การตรวจสอบพอร์ตโฟลิโอ

เริ่มต้นจากการดูก่อนว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่นั้น สามารถช่วยตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินที่เราวางไว้หรือไม่ โดยเป้าหมายหลักของการลงทุน อาจแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ เพื่อการเติบโตของเงินลงทุน (Growth) เพื่อสร้างรายได้หรือกระแสเงินให้แก่ผู้ลงทุน (Income) และเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ผู้ลงทุน (Stability) นอกจากนี้ การลงทุนยังสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตโฟลิโอให้มีความเหมาะสมกับผลตอบแทนที่ได้รับอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นที่ให้อัตราเงินปันผลที่สูง เพื่อมุ่งหวังได้รับเงินปันผล (Income) และสร้างการเติบโตของเงินลงทุนในอนาคต (Growth) หรือการลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อหวังผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ (Income) และสร้างความมั่นคงของเงินลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต่ำ (Stability) ทั้งนี้ หากเรารู้แล้วว่าเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการลงทุนของเราคือเพื่ออะไร เราก็จะสามารถจัดระเบียบสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่โดยตรวจสอบดูได้ว่าสินทรัพย์นั้น ๆ ให้ผลตอบแทนได้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการในระยะยาวได้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ควรเอาออกไปจะดีกว่า ทั้งนี้ การประเมินสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่สามารถทำได้ตามรูปแบบต่อไปนี้

เป้าหมายเพื่อการเติบโตของเงินลงทุน (Growth)

หากการลงทุนนั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว เราอาจวัดผลตอบแทนในระยะยาวของสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ว่าสร้างผลตอบแทนได้ดีแค่ไหนโดยเปรียบเทียบกับ Total-market equity index fund ก็ได้ เช่น เปรียบเทียบกับ Total U.S. market index funds ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 17% ในตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วการลงทุนในหุ้นสามัญก็ควรจะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าเกณฑ์ที่นำมาใช้วัดผล นอกจากนี้การลงทุนนั้น ๆ ยังอาจช่วยให้บรรลุเป้าหมายอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น กระจายความเสี่ยงจากการลงทุน สร้างรายได้หรือกระแสเงินสดให้สม่ำเสมอ เป็นต้น

เป้าหมายเพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอ (Income)

กรณีเป็นการลงทุนในหุ้นเพื่อหวังเงินปันผลก็อาจเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับอัตราเงินปันผลของดัชนีอ้างอิงได้ เช่น เทียบกับ S&P500 ที่ให้อัตราเงินปันผลเฉลี่ย 1.2% ต่อปี แต่หากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้นั้นหากกำหนดอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับในอัตราที่สูงก็อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นตามมาได้เนื่องจากตราสารหนี้ที่เสนอผลตอบแทนให้สูงอาจเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีคุณภาพด้อยลงนั่นเอง ซึ่งก็อาจเป็นการขัดแย้งเป้าหมายเรื่องความมั่นคงของเงินลงทุนได้ (Stability) แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังให้ความปลอดภัยต่อเงินลงทุนที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นอยู่ดี

เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน (Stability)

เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่เงินลงทุนที่มี การลงทุนในตราสารหนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียเงินลงทุนได้และอาจสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย แต่หากเลือกลงทุนในหุ้นก็ควรจะเป็นกลุ่มที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาดโดยรวมเพราะในยามที่ตลาดหุ้นปรับลงมาก ๆ หุ้นที่ผันผวนต่ำก็จะขาดทุนน้อยกว่านั่นเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar