รู้จักกองทุนมากขึ้นด้วย Factor Profile

นอกจากข้อมูลผลตอบแทนกองทุนแล้ว นักลงทุนอาจต้องการทราบว่ากองทุนที่มีให้เลือกมากมายนั้นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร วันนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์จะขอนำเครื่องมือ Factor profile มาอธิบายเพื่อให้นักลงทุนได้ลองนำไปพิจารณาเลือกกองทุนกันค่ะ

Morningstar 25/08/2565
Facebook Twitter LinkedIn

ในปัจจุบันมีกองทุนรวมให้เลือกจำนวนมาก หากนับเฉพาะกองทุนรวมตราสารทุนที่เปิดขายอยู่ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากถึงหลักพันกองทุน ซึ่งทางมอร์นิ่งสตาร์ได้ทำการแบ่งกองทุนออกเป็นกลุ่มตาม Morningstar Category ที่สามารถเรียกดูกองทุนที่มีการลงทุนคล้ายกันในเชิงของประเทศปลายทาง ขนาดของหุ้นที่กองทุนลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน เป็นต้น แต่ในความคล้ายกันนี้ก็อาจยังมีความต่างกันในรายละเอียดตามแต่ละมิติ เช่น กองทุนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันบางกองอาจลงทุนในหุ้นเติบโต บางกองทุนเน้นหุ้นคุณค่า ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวทางการลงทุนของผู้จัดการกองทุนในแต่ละช่วงเวลา

Factor Profile ช่วยนักลงทุนให้เข้าใจพอร์ตกองทุนในแต่ละมิติ

จากความแตกต่างกันนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์ได้นำ 7 ปัจจัยที่มักถูกใช้ในการเลือกหุ้นและเป็นส่วนสำคัญต่อผลการดำเนินงานกองทุน มาจัดทำเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า Factor Profile ที่อ้างอิงข้อมูลจากพอร์ตของกองทุน ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนทราบถึงลักษณะของกองทุนนั้นได้มากยิ่งขึ้น โดย Factor Profile นี้จะแสดง 1) การลงทุนในพอร์ตล่าสุด (สีน้ำเงินเข้ม) 2) การลงทุนในอดีตคือช่วง 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี (ขนาดพื้นที่สีฟ้า) และ 3) ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม (จุดดำ) ตามแต่ละปัจจัยทั้ง 7 ซึ่งประกอบด้วย

1

1. Style เป็นการบอกถึงสไตล์การลงทุนของกองทุนว่าเอนเอียงไปทางหุ้นเติบโตหรือหุ้นคุณค่า ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับ Morningstar Style Box ที่ใช้ข้อมูลทางการเงินมาคำนวณ เช่น รายได้ กำไรของบริษัท มูลค่าทางบัญชี กระแสเงินสด เป็นต้น

2. Yield ผลตอบแทนจากเงินปันผลหรือการซื้อหุ้นคืนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนหลายท่านให้ความสนใจ โดย yield factor นี้เป็นการแสดงผลตอบแทนดังกล่าวในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง ฉะนั้นกองทุนเน้นหุ้นปันผลก็จะมี Yield อยู่ในระดับสูง

3. Momentum โมเมนตัมของหุ้นถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของราคาในอนาคต โดยโมเมนตัมของหุ้นนั้นหมายถึงราคานั้นมีการขึ้นไปมากน้อยเพียงใดในรอบ 12 เดือน หากกองทุนมี momentum ในพอร์ตล่าสุดที่ค่อนข้างสูง หมายถึงกองทุนมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา

4. Quality เป็นการบอกถึงคุณภาพของพอร์ตการลงทุนโดยใช้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และ financial leverage (debt/capital) ของหุ้นที่ลงทุนในการวัด

5. Volatility หรือความผันผวนของผลตอบแทนนั้นมักถูกใช้ในการวัดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยค่านี้จะเป็นการบอกว่าพอร์ตมีความผันผวนมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับกลุ่ม

6. Liquidity เป็นการบอกถึงสภาพคล่องการซื้อขายของหุ้นในพอร์ต หากมีค่าสูงหมายถึงมีการลงทุนในหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณ outstanding shares

7. Size เป็นการแสดงลักษณะพอร์ตกองทุนว่าเป็นพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่-เล็ก ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงพอร์ตกองทุน โดยการแบ่งขนาดของหุ้นนั้นทางมอร์นิ่งสตาร์ได้แบ่งตามภูมิภาค เช่นหุ้นไทยจะถูกเปรียบเทียบขนาดกับหุ้นในประเทศกลุ่ม Asia ex-Japan

ตัวอย่างข้อมูล Factor Profile

ตัวอย่างด้านล่างนี้แสดง Factor profile ของกองทุนหนึ่ง โดยแท่งซ้ายสุด (Style) และขวาสุด (Size) แสดงให้เห็นว่าเป็นกองทุนหุ้นเติบโตที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ และมีการลงทุนลักษณะนี้ในช่วง 5 ปี ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายกองทุน ในขณะที่พอร์ตล่าสุดลงทุนในหุ้น yield ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและค่าเฉลี่ยกลุ่ม ด้าน Quality ในรอบ 5 ปีค่อนข้างเน้นไปทางหุ้นคุณภาพสูง แม้ว่าล่าสุดอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่เมื่อดูในด้านความผันผวนนั้นถือว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่ม

2

ข้อมูลจากเครื่องมือ Factor profile นี้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้ท่านนักลงทุนได้รู้จักแต่ละกองทุนมากขึ้นผ่านแต่ละมิติที่กล่าวมา ซึ่งควรนำไปปรับใช้พิจารณาเลือกกองทุนและจัดพอร์ตการลงทุน นักลงทุนสามารถดูข้อมูล Factor profile ของกองทุนได้โดยเข้าไปที่หน้า กองทุนและเลือกกองทุนหุ้นที่สนใจ จากนั้นเลือก “พอร์ตโฟลิโอ” ก็จะสามารถทราบ factor profile และข้อมูลการลงทุนของกองทุนนั้น ๆ ได้

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar