วิกฤตพลังงานในยุโรป

ราคาก๊าซที่ผันผวนนั้นจริงๆแล้วไม่ได้เพิ่งจะเกิดในช่วงที่มีปัญหาในยูเครนและรัสเซีย แต่เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2021

Morningstar 19/09/2565
Facebook Twitter LinkedIn

ราคาก๊าซที่ผันผวนนั้นจริงๆแล้วไม่ได้เพิ่งจะเกิดในช่วงที่มีปัญหาในยูเครนและรัสเซีย แต่เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 ซึ่งปกติแล้วในอดีตทวีปยุโรปจะทำสัญญาซื้อก๊าซแบบ  long-term contracts ทำให้ราคาที่ซื้อขายนั้นค่อนข้างมีเสถียรภาพ และรูปแบบสัญญาเป็นแบบ take-or-pay หรือผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องจ่ายตามปริมาณก๊าซขั้นต่ำที่กําหนดไว้ในสัญญาแม้จะใช้ไม่ถึงก็ตาม อย่างไรก็ตามหลังปี 2008 ซึ่งเป็นช่วง global financial crisis ทำให้ความต้องการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมนั้นลดน้อยลง ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของพลังงานทดแทนส่งผลให้มีพลังงานส่วนเกินจำนวนมาก จึงทำให้มีการซื้อขายก๊าซที่ราคา spot เพิ่มมากขึ้นแทนเนื่องจากราคาก๊าซ ณ ขณะนั้นต่ำลงตามอุปทานที่มีมากและความต้องการที่ลดลง โดยในปี 2019 พบว่า 80% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ในยุโรปนั้นถูกซื้อขายตามราคา spot ส่วนที่เหลืออีก 20% ซื้อขายตามราคาของ long-term contracts

ระบบ TTF หรือ Title Transfer Facility เกิดขึ้นในปี 2003 เพื่อใช้ซื้อขายก๊าซในประเทศ Netherlands และยังถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงล่วงหน้าของราคาก๊าซที่ซื้อขายทั่วทวีปยุโรป ซึ่งโดยปกติทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย สถาบันการเงิน รวมถึงรัฐบาล มักจะซื้อขายก๊าซในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงมีการปิดสถานะสัญญาล่วงหน้าซึ่งทำให้เกิดการเก็งกำไรมากขึ้นในตลาดนี้ และทำให้ราคาผันผวนอย่างมาก

ttf

จากกราฟจะเห็นว่าราคาก๊าซนั้นเริ่มปรับสูงขึ้นและผันผวนตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2021 หลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอุปทานที่ลดลงจากการต้องซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซ ส่งผลให้ราคาก๊าซผันผวนมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนตามมา ทั้งนี้ราคาก๊าซปรับตัวขึ้นในเดือนธันวาคมปี 2021 ที่ราคา €180 เพิ่มขึ้น 10 เท่าจาก €18 ในช่วงต้นปี และไปถึงระดับ €300/MWh ในช่วงปี 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาด TTF ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำส่งผลให้ราคาผันผวนค่อนข้างมาก

ขณะที่ในปี 2022 ความต้องการใช้ก๊าซในยุโรปนั้นยังอยู่ในระดับปกติ ด้านอุปทานก๊าซที่มาจากมอสโกนั้นยังเป็นปกติเช่นกัน เว้นแต่ฝั่งที่มาจากรัสเซียผ่านท่อ Nord Stream 1 ที่มีปัญหาติดขัดในช่วงที่ผ่านมาและทำให้ปริมาณก๊าซที่ขนส่งผ่านท่อดังกล่าวลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ของกำลังการขนส่งทั้งหมด ทั้งนี้การนำเข้าก๊าซจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของการนำเข้าก๊าซทั้งหมดในยุโรป และแม้ว่ายุโรปพยายามจะหาแหล่งพลังงานมาทดแทนการนำเข้าจากรัสเซียแต่ก็ต้องใช้เวลานานอีก 2-3 ปี ทำให้คาดว่าราคาก๊าซจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกซักระยะ

แนวทางรับมือกับราคาก๊าซที่ผันผวน

สำหรับแผนการเพื่อรับมือกับวิกฤติการครั้งนี้ ทาง EU ได้วางแผนลดการใช้ก๊าซลง 15% ในช่วงระหว่างสิงหาคม 2022 ถึงมีนาคม 2023 โดยจะทดแทนด้วยการใช้ถ่านหิน นิวเคลียร์ น้ำมัน และพลังงานหมุนเวียนอื่นมาทดแทน รวมถึงแผนจำกัดราคานำเข้าก๊าซและการจูงใจผู้บริโภคให้ลดการใช้พลังงานลง

อุปสรรคของแผนจำกัดราคานำเข้าก๊าซ

แม้ว่า EU มีแผนจำกัดราคานำเข้าก๊าซแต่ก็มีแรงต่อต้านจากประเทศสมาชิกอีกเช่นกัน ทั้งข้อตกลงที่เป็นเอกฉันท์ในระดับยุโรป การควบคุมราคาซื้อที่เห็นตรงกัน รวมถึงการกำหนดราคาอาจเป็นแรงผลักดันให้ Supply ก๊าซจากมอสโกลดลงได้อีกด้วย

โดยสรุปแล้วเราอาจเห็นความต้องการใช้ก๊าซที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมต่างๆเนื่องจากโดนผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนก็โดนผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั่นเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar