อัตราเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าที่คาด

อัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงอยู่ระดับสูงนั้น หากเปรียบเทียบกับคาดการณ์แล้วออกมาต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าความพยายามของเฟดเริ่มส่งผลต่อเงินเฟ้อ

Morningstar 14/12/2565
Facebook Twitter LinkedIn

อัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงอยู่ระดับสูงนั้น หากเปรียบเทียบกับคาดการณ์แล้วออกมาต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าความพยายามของเฟดเริ่มส่งผลต่อเงินเฟ้อ โดยทางคุณ Preston Caldwell หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์นิ่งสตาร์มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะดีใจ แต่อย่างไรก็ตามทางมอร์นิ่งสตาร์มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาต่ำกว่าคาดนั้นเกิดจากสินค้าบางหมวดมีการปรับราคาลงเช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในครัวเรือนอื่น ๆ

หลังจากที่มีการเปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่ทำให้การปรับดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์นี้เปลี่ยนไป โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 0.5% ในรอบนี้

เมื่อมองในภาพรวมก็ยังเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐที่ 2% โดยเงินเฟ้อจากภาคบริการที่เฟดให้ความสำคัญยังคงอยู่ระดับสูง จากอัตราการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่ง

ข่าวดีจากรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน

การรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer price index : CPI) ซึ่งเป็นการสะท้อนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.1% จากเดือนก่อนหน้าหรือต่ำกว่า 0.3% ที่นักเศรษฐศาสตร์คาด และลดลงจาก 0.4% ในเดือนตุลาคม สำหรับ core CPI หรือตัวเลขที่บ่งบอกถึงเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน หรือที่เรียกว่าเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพฤศจิกายน ต่ำกว่าเดือนตุลาคมที่ 0.3% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในรอบนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่สิงหาคมของปีที่แล้ว

เมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะพบว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.1% ในเดือนพฤศจิกายน และหากไม่รวมราคาอาหารและพลังงานจะอยู่ที่ 6.0% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 ค่านั้นต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาด

 1

อย่างไรก็ดีทางมอร์นิ่งสตาร์มองว่าการใช้ตัวเลขเพียงเดือนเดียวอาจไม่ได้สะท้อนข้อมูลภาพรวมมากนัก โดยหากดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานโดยเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 4.3% ต่อปี หรือต่ำกว่าระดับ 6%-7% ต่อปีในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้

 2

แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัย

การรายงานเงินเฟ้อจะมีตัวเลขหมวดหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือในส่วนของที่อยู่อาศัย โดยมีการปรับขึ้น 8.9% ต่อปีในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ โดยทางมอร์นิ่งสตาร์มองว่าภาคที่อยู่อาศัยที่มีเงินเฟ้อสูงนั้นเกิดจากตลาดการเช่าที่อยู่อาศัย แต่ใน 3 เดือนล่าสุดถือว่ามีการชะลอลงอย่างมาก และหากไม่นับรวมผลจากตลาดที่อยู่อาศัยจะพบว่าเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.1% ต่อปีจากข้อมูลใน 3 เดือนล่าสุด

 3

ประเด็นที่ต้องติดตาม

จากรายงานอัตราเงินเฟ้อรอบล่าสุดนั้นส่วนของเงินเฟ้อภาคบริการที่ไม่รวมที่อยู่อาศัยและกลุ่มการดูแลสุขภาพเป็นส่วนที่จะต้องติดตาม ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้น 7.5% ต่อปีจากข้อมูล 3 เดือนล่าสุด ซึ่งแสดงถึงแรงกดดันเงินเฟ้อยังอาจอยู่ระดับสูงจากอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างยังคงสูงอยู่

 4

โดยรวมถือว่ารายงานอัตราเงินเฟ้อในรอบนี้ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าลงในสัปดาห์นี้หรือที่ 0.5% ลดลงจากรอบก่อนหน้าที่ 0.75% ซึ่งขึ้นติดต่อกันมา 4 ครั้งในปีนี้ และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะปรับดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ในการประชุมรอบเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า รวมทั้งการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยภายในสิ้นปีหน้า

6

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar