Consumer credit สหรัฐส่งสัญญาณอ่อนแอ

ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐซึ่งถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศนั้นได้ปรับขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่เริ่มมีความกังวลต่อสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้และการจ่ายเบี้ยปรับที่เพิ่มมากขึ้น

Morningstar 13/03/2566
Facebook Twitter LinkedIn

ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐซึ่งถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศนั้นได้ปรับขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากค่าจ้างแรงงาน เงินอุดหนุนจากภาครัฐ และเงินออมที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังต่ำ ตลาดหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นดี ยิ่งส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านยานยนต์ ร้านอาหาร ที่พัก และสินค้าต่างๆ

อย่างไรก็ดีเริ่มมีความกังวลต่อสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้และการจ่ายเบี้ยปรับที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ ทั้งนี้ความอ่อนแอในภาคสินเชื่อสหรัฐนั้นเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ในปี 2022 หลังจากที่มีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในกลุ่มนี้ประกอบกับดอกเบี้ยที่เร่งตัวขึ้นยิ่งทำให้ดอกเบี้ยจ่ายบนบัตรเครดิตเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ผู้ประกอบการให้สินเชื่อเองก็มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นในปี 2023 ด้านราคาหุ้นของผู้ให้บริการสินเชื่อในสหรัฐก็ปรับลดลงในเดือนที่ผ่านมาทั้ง Ally Financial, Bread Financial Holding, Capital One Financial, Discover Financial Services, Synchrony Financial และ American Express

1

อัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นแม้อัตราการว่างงานจะลดลง

ปัจจุบันแม้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 53 ปีที่ผ่านมาที่ 3.4% และการจ้างงานในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 242,000 ตำแหน่ง (สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ 205,000 ตำแหน่งและสูงจากเดือนมกราคมที่มีการจ้างงาน 119,000 ตำแหน่ง) แต่ด้วยราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงจึงกระทบต่อกำลังความสามารถในการจ่ายหนี้ของผู้บริโภคและทำให้หนี้ครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วยังเพิ่มขึ้น 2.4% มาอยู่ที่ 16.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ด้านยอดปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตก็เพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 986 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอัตราการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วโดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้ที่ยังอายุน้อยที่มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดไปแล้ว

ผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ภาคครัวเรือนและกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มได้รับผลกระทบแล้วจากนโยบายการเงินสหรัฐที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากและรวดเร็ว ขณะที่ประธาน Fed นาย Jerome Powell ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ในการประชุมเดือนนี้และอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกซักพักจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและการจ้างงานในประเทศที่แข็งแกร่ง

2

(ก่อนหน้านี้ Fed ได้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากที่ขึ้น 0.75% จำนวน 4 ครั้งติดต่อกัน โดยลดลงมาเหลือ 0.50% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และขึ้นอีก 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์)

แนวโน้มการบริโภคในสหรัฐยังไม่ดีนัก

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ยังคงปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีความคาดหวังซึ่งชี้วัดมุมมองระยะสั้นต่อระดับรายได้ ธุรกิจ และตลาดแรงงาน ก็ออกมาต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และด้วยระดับราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นก็เริ่มทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวลง ส่งผลให้การใช้จ่ายผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลงจากนี้ไปและอาจกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานให้อ่อนแอลงได้ อัตราการจ้างงานอาจถูกกระทบตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้และอัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 4.8% ในไตรมาสแรกของปีหน้า และเมื่อตลาดแรงงานอ่อนแอก็จะทำให้ภาคการใช้จ่ายและการบริโภคได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar