สรุปภาพรวมกองทุนรวมครึ่งปีแรก 2558

สินทรัพย์กองทุนรวมโตทะลุ 4 ล้านล้านบาท นำโดยกองทุนต่างประเทศที่โตต่อเนื่อง 32.9% อีกทั้งผลตอบแทนยังเด่นกว่ากลุ่มอื่น

Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

          ช่วงครึ่งปีแรกนี้อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หลาย บลจ มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธินั้นก็ยังคงโตอย่างต่อเนื่องโดยทำยอดทะลุ 4 ล้านล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเติบโตจากปลายปีที่แล้วกว่า 6.03%  ซึ่งกลุ่มที่โตอย่างโดดเด่นที่สุดนั้นก็คือการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ซึ่งในครึ่งปีนี้มีการเปิดกองทุนใหม่ 28 กองทุน ทำให้ปัจจุบันมีกองทุนในกลุ่มดังกล่าวทั้งหมด 285 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 302,110 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 36.92% จากปลายปี 2557)  แซงหน้าทั้งกลุ่มหุ้นไทย กลุ่ม LTF และ RMF และมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวมกว่า 72,000 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มกองทุนที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มกองทุนประเภท Money Market และ High Yield Bond ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวม 127,818 ล้านบาท และ 98,184 ล้านบาท ตามลำดับ

การลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นั้นได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5  ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีกองทุนในกลุ่มดังกล่าวหลากหลายประเภทกว่า 13 กลุ่มกองทุนเสนอขายให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่ปัจจุบันมีให้เลือกมากถึง 178 กองทุนและมีส่วนแบ่งในกลุ่มนี้สูงถึงเกือบ 60% และยังคงโตอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแบ่งประเภทสินทรัพย์การลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund)

FIFs Asset Allocation

โดยกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในประเทศนี้ กลุ่ม Global Allocation มีสินทรัพย์มากที่สุดที่ 57,432  ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Global Health Care ที่สินทรัพย์รวม 39,381 ล้านบาทและยังถือว่าเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วและมีเม็ดเงินไหลเข้ามากที่สุดในรอบครึ่งปีแรกนี้อีกด้วย โดยกองทุนกลุ่มนี้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 26,600 ล้านบาท

เช่นเดียวกันกับกลุ่มหุ้นจีนยังแรงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 32,000 ล้านบาท มีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิแล้ว 15,400 ล้านบาท อีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็คือกลุ่มหุ้นญี่ปุ่นที่มีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิประมาณ 15,100 ล้านบาททำให้ขณะนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 27,500 ล้านบาท

10 อันดับกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund)

FIFs

ซึ่งในกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ทั้งหมดนี้ บลจ.กสิกรไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดสูงถึง 41.04% (แม้จะลดลงจากปีที่แล้วที่สูงถึง 47%) มีเงินลงทุนรวมในกลุ่มนี้กว่า 12,4000 ล้านบาท นำห่างอันดับที่ 2 บลจ. กรุงศรีมีส่วนแบ่งที่ 9.28% ที่เงินลงทุนประมาณ 28,000 ล้านบาทแต่ถือว่าโตจากปีที่แล้วค่อนข้างมากที่มีส่วนแบ่งเพียง 5.4% ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของ บลจ. ยูโอบี ประเทศไทย ที่มีสินทรัพย์สุทธิรวม 25,600 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มนี้ บลจ. ขนาดกลางสามารถทำส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดีกว่ากลุ่มการลงทุนในประเทศประเภทอื่นๆ

10 อันดับ บลจ.ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) มากที่สุด

10 FIFs Firm

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ยังคงโตอย่างต่อเนื่องแม้จะเทียบไม่ได้กลับกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 178,600 ล้านบาท โดยในกลุ่มที่เริ่มได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้นนั้นก็คือกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก Equity Small/Mid Cap ที่ปีนี้มีออกใหม่มาแล้ว 4 กองทุนและยังคงมีหลายกองที่กำลังอยู่ในช่วง  IPO ซึ่งความโดดเด่นนั้นคงเป็นเรื่องของโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดูน่าสนใจกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ รวมทั้งผลตอบแทนในช่วง 2-3 ที่ผ่านมาก็ยังสูงกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามความผันผวนก็สูงกว่าเช่นกัน

ส่วน Trigger fund ยังคงได้รับความนิยมสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกนี้มีกองทุนเปิดใหม่มากถึง 68 กองทุน โดยทำยอด IPO ได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท (สูงกว่าครึ่งปีแรก ปี 2557 กว่า 124%) โดยแบ่งเป็นที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศมากถึง 42 กองทุน (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 21,000 ล้านบาท) ลงทุนในหุ้นไทย 21 กองทุน (6,500 ล้านบาท) และลงทุนในน้ำมัน 5 กองทุน (2,500 ล้านบาท) โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ตั้งเป็นเป้าหมายนั้นอยู่ที่ประมาณ 5-8% ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเมื่อปีที่แล้ว และกลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากนักลงทุน Trigger fund ก็คือ หุ้นญี่ปุ่น 7,000 ล้านบาท หุ้นไทย 6,500 ล้านบาท หุ้นจีน 6,400 ล้านบาท หุ้นเอเชีย 3,200 ล้านบาท และหุ้นเยอรมัน 2,150 ล้านบาท

 

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลตอบแทนกองทุนในครึ่งปีแรก 2558 นี้ โดยเฉลี่ยมีเพียง 3 กลุ่มจาก 21 กลุ่ม ที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบ ซึ่งกลุ่มที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงนั้นจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศนำมาโดย กลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นที่เฉลี่ย 16.52% ซึ่งสามารถสร้างผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้ ตามมาด้วยอันดับที่สองคือ กลุ่มหุ้นจีนที่เฉลี่ย 14.61%  ซึ่งเริ่มปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 จากความกังวลว่าจะเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นจีน และหุ้นยุโรปที่เฉลี่ย 11.15% ซึ่งโดดเด่นในไตรมาสแรกแต่เนื่องจากปัญหาหนี้ของกรีซกดดันทำให้ผลตอบแทนผันผวนตลอดทั้งไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

ขณะที่หุ้นไทยกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 2.69% สูงกว่ากลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ที่ทำได้เฉลี่ย 1.12% แต่กลุ่มที่โดดเด่นคือ กลุ่มที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Indirect) ที่สามารถทำได้เฉลี่ยสูงถึง 6.5% ซี่งกลุ่มนี้มักจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวน

ส่วนผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มตราสารหนี้นั้นยังไม่โดดเด่นมากนัก โดยกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond นั้นสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 1.33% และ  1.50% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่ม Global Bond และEmerging Market Bond  นั้นทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 0.71% และ  -0.77% ตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและทองคำนั้นปรับตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสแรกแต่ก็ยังคงติดลบอยู่ทั้ง 2 กลุ่มโดย กองทุนน้ำมันนั้นยังคงเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบมากที่สุดอีกที่ -5.40% ส่วนกองทุนทองคำมีผลตอบแทนเฉลี่ย -0.32%

THA Category

ปิดท้ายกันที่กองทุน LTF และ RMF โดยภาพรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 264,749 ล้านบาท และ 171,138 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่ง LTF นั้นมีมูลค่าลดลงประมาณ -2.31% เมื่อเทียบกับเมื่อปลายปี 2557 เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนขายเงินลงทุนที่ครบกำหนดไตรมาสที่ 1 ถึงแม้ว่าจะเริ่มนักลงทุนบางส่วนเริ่มลงทุนบ้างแล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ก็ยังคงเป็นส่วนน้อย ซึ่งคาดการณ์ว่านักลงทุนส่วนใหญ่คงจะรอลงทุนในช่วงปลายปีเหมือนเช่นเคย

ขณะที่ RMF นั้นก็เริ่มมีเงินลงทุนไหลเข้าเช่นกันในไตรมาสที่ 2 ทำให้ปีนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิแล้วกว่า 2,713 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่มีกองทุน RMF เปิดใหม่ แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นครึ่งปีแรกที่เม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุน RMF และเช่นเดียวกับ กองทุน LTF คาดการณ์ว่านักลงทุนส่วนใหญ่คงจะรอลงทุนในช่วงปลายปี

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558, ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst