ข้อควรรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวม

การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนหลายๆ คนคงได้ยินประโยคนี้มาไม่มากก็น้อย แต่จะมีสักกี่คนที่สนใจและปฏิบัติตาม???

Facebook Twitter LinkedIn

         

          เท่าที่ผมออกไปพบปะพูดคุยกับผู้ลงทุน หลายๆ ท่านยังมองว่าการลงทุนกองทุนรวมไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะมีผู้ดูแลเงินแทนเราอยู่แล้ว ก็แค่รู้จักตัวเองก่อนว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน มีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร จากนั้นก็ลงทุนได้เลย

ไม่ผิดครับที่คิดเช่นนั้น แต่ยังไม่ถูกทั้งหมด เพราะนอกจากผู้ลงทุนจะรู้จักตัวเองแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับฝั่งกองทุนรวมด้วย พูดง่ายๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนใดกองหนึ่ง ควรจะมีอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง เหมือนกับเรากำลังซื้อรองเท้า เมื่อรู้ขนาดเท้าของตัวเองแล้วก็ต้องหารองเท้าที่มีขนาดเหมาะกับเท้าของคุณ แถมยังต้องเลือกยี่ห้อ เลือกสี เลือกลาย เลือกราคา

อันดับแรก เมื่อรู้จุดประสงค์ เป้าหมายการลงทุนของตัวเองแล้วว่าต้องการลงทุนเพื่ออะไร ก็ต้องมาดูว่ามีกองทุนรวมที่ตอบสนองความต้องการมีอะไรบ้าง เช่น ถ้าต้องการลงทุนและรับผลตอบแทนสูงๆ และสามารถรับความเสี่ยงได้สูง ก็ต้องมองไปที่กองทุนรวมหุ้น แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองอายุเริ่มเยอะขึ้น รับความเสี่ยงได้น้อยลง ไม่อยากสูญเสียเงินต้นไปมากๆ แต่อีกใจหนึ่งก็ยังต้องการผลตอบแทนในระดับปานกลาง ก็มองไปที่กองทุนรวมแบบยืดหยุ่นหรือกองทุนรวมผสม แต่ถ้าไม่อยากเห็นเงินต้นสูญหายไป แสดงว่าคุณรับความเสี่ยงได้น้อย และยอมรับผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำได้ ก็ต้องไปที่กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือผู้ลงทุนบางท่านต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนให้ครบถ้วนขึ้น ก็ต้องมองไปที่กองทุนรวมที่ลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน แต่ไม่ควรลงทุนในสัดส่วนที่สูง เพราะกองทุนรวมดังกล่าวเหมาะสำหรับเพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุนเท่านั้น

ผมอยากจะฝากคุณผู้อ่านว่า การดูกองทุนรวมนั้นไม่ควรอ่านแค่นโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนเท่านั้น ควรเข้าไปศึกษาดูรายละเอียดด้านพอร์ตการลงทุนของแต่ละกองทุน เพราะถึงแม้ว่ากองทุนประเภทเดียวกัน ก็จะมีการลงทุนในตราสารที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมหุ้น ก็มีทั้งกองที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ลงทุนหุ้นเติบโต หุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หรือลงทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมหนึ่ง (Sector Fund) เช่น เน้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มแบงก์ หรือกลุ่มสื่อสาร

ถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็ต้องดูว่ากองทุนนั้นๆ ไปลงทุนตราสารหนี้ประเภทไหนบ้าง เช่น ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น พันธบัตรระยะยาว หรือลงทุนหุ้นกู้ เป็นต้น หรือหากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ไปลงทุนต่างประเทศ ต้องดูว่าตราสารหนี้ที่ไปลงทุนนั้นมีอันดับเครดิตระดับไหน ลงทุนตราสารหนี้ประเทศอะไร

ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องเข้าไปดูว่ากองทุนรวมนั้นๆ ไปลงทุนในตราสารประเภทไหนบ้าง ในสัดส่วนเป็นอย่างไร เพราะการลงทุนที่แตกต่างกัน ความเสี่ยงและผลตอบแทนย่อมแตกต่างกันด้วย

ถัดจากนั้น ผู้ลงทุนต้องเข้าใจเกี่ยวกับผลตอบแทนของกองทุนรวม โดยผลตอบแทนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Total Return กับ Price Return โดย Total Return เป็นผลตอบแทนที่ได้รวมเงินปันผลเข้าไปแล้ว ซึ่งผมแนะนำให้ผู้ลงทุนดูผลตอบแทนนี้เป็นหลัก เพราะกองทุนรวมบางกองจ่ายเงินปันผล บางกองทุนก็ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ส่วน Price Return เป็นผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ไม่ได้รวมการจ่ายเงินปันผลเข้ามา ดังนั้นผลตอบแทนแบบ Price Return จะต่ำกว่า Total Returnในกรณีของกองทุนที่จ่ายเงินปันผล แต่จะเท่ากันในกรณีของกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล               

ต่อมาผู้ลงทุนควรดูผลตอบแทนระหว่างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (Annualized Return) โดยวิธีการคำนวณก็ใช้วิธีการหาแบบค่าเฉลี่ยเรขาคณิต หรือ Geometric mean เหมือนกับวิธีการหาดอกเบี้ยทบต้น ส่วนอีกวิธี ก็คือ ผลตอบแทนแบบสะสม (Cumulative Return) จะเป็นการนำผลตอบแทนปีแรกกับผลตอบแทนที่ต้องการคำนวณปีล่าสุดมาดู เช่น ถ้าต้องการหาผลตอบแทนกองทุนปี 2549-2553 ก็นำ NAV ปี 2549 และปี 2553 มาคำนวณ (โดยไม่สนใจตัวเลขปี 2550-2552) เช่น NAV ปี 2549 อยู่ที่ 10 บาท ส่วน NAV ปี 2553 อยู่ที่ 20 บาท แสดงว่ากองทุนรวมนี้มีผลตอบแทนในปี 2553 เพิ่มขึ้น 100% จากปี 2549

ดังนั้น จะสังเกตได้ว่ากองทุนรวมโดยเฉพาะกองทุนหุ้นในบ้านเราจึงมักจะคำนวณกองทุนรวมแบบ Cumulative Return เพราะจะเห็นตัวเลขผลตอบแทนสูงๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาดของบรรดา บลจ. ซึ่งผมมองว่าหากจะเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนในรอบปีที่เหมาะสม น่าจะเป็นการใช้วิธี Annualized Return

ถัดจากนั้นผู้ลงทุนต้องเปรียบผลตอบแทนของกองทุนรวมกับตัวชี้วัด (Benchmark) เช่น ถ้ากองทุนรวมหุ้น ก็ต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนกับ SET Index หรือถ้ากองทุนนั้นๆ ลงทุนหุ้นที่อยู่ใน SET50 ก็ต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทน SET50 Index การเปรียบเทียบดังกล่าว เป็นตัววัดว่าผู้จัดการกองทุนมีประสิทธิภาพแค่ไหน และสามารถเอาชนะ Benchmark ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากกองทุนไม่สามารถเอาชนะ Benchmark ได้ ก็อาจจะหันไปพิจารณาลงทุนกองทุนในลักษณะ Passive Fund ซึ่งผลตอบแทนจะเกาะไปกับ Benchmark แถมค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าด้วย

แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) จะเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ย 3 แบงก์ หรือถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็ต้องดูว่าลงทุนตราสารหนี้ประเภทไหน ถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาล ก็เปรียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้าไปลงทุนหุ้นกู้ก็จะเปรียบกับผลตอบแทนของหุ้นกู้ ซึ่งเส้นอัตราผลตอบแทนดังกล่าว   

นอกจากจะเปรียบเทียบกับ Benchmark แล้ว ต้องเปรียบเทียบกับกองทุนรวมประเภทเดียวกันด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น เปรียบเทียบผลตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม พูดง่ายๆ ต้องเปรียบเทียบกับกองทุนรวมที่เป็นคู่แข่งด้วย เพราะหากองทุนรวมที่ดีที่สุดจริงๆ เพราะอย่าลืมว่า บางปีกองทุนรวมทุกกองทุนเอาชนะ Benchmark ดังนั้นต้องเลือกกองทุนรวมที่ดีที่สุด เช่นเดียวกันปีใหนที่กองทุนรวมทำผลงานออกมาย่ำแย่เหมือนๆ กัน ยิ่งต้องเปรียบกันว่ากองทุนรวมไหนที่ติดลบ (ขาดทุน) น้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนไม่ควรดูแค่ผลตอบแทนอย่างเดียว ก็ต้องดูความเสี่ยงของกองทุนรวมด้วย ในที่นี้หมายถึง หากเป็นกองทุนรวมตราสารทุน ผลตอบแทนย่อมสูง ความเสี่ยงย่อมสูงด้วย หรือกองทุนรวม Money Market ความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนก็ต่ำตามไปด้วย

ดังนั้นหากจะดูเรื่องความเสี่ยง ต้องไปดูค่าความผันผวน (Standard Deviation) โดยค่าความผันผวนยิ่งต่ำยิ่งดี หมายความว่า ความผันผวนของผลตอบแทนต่ำ NAV จะไม่เหวี่ยงมาก ตรงกันข้ามถ้าค่าความผันผวนสูง แสดงว่าผลตอบแทนจะมีความผันผวนมาก NAV ก็จะเหวี่ยงมาก บางจังหวะอาจจะพุ่งขึ้นไปสูง แต่อีกไม่กี่วันถัดมากลับปรับลดลงจนน่าใจหาย

ถัดจากนั้น อยากให้ผู้ลงทุนพิจารณาผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ว่ากองทุนรวมนั้นๆ ใครคือผู้จัดการกองทุน โดยหลักสากลแล้วกองทุนรวมอาจจะบริหารด้วยผู้จัดการกองทุนคนเดียว หรือบริหารกันเป็นทีมก็ได้ แต่สำหรับในบ้านเรา กองทุนรวมทั้งหมดจะบริหารกันเป็นทีม ดังนั้น อาจจะไม่มีผลกระทบกับกองทุนรวมมากนัก หากมีผู้จัดการกองทุนคนเดียวลาออก เพราะยังมีผู้จัดการกองทุนอีกหลายคนบริหารต่อไป แต่ถ้าผู้จัดการกองทุนตัดสินใจลาออกกันยกทีม อาจจะกระทบกับการบริหารกองทุนได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้ลงทุนต้องพิจารณาด้านประสบการณ์ของผู้จัดการกองทุนแต่ละคนด้วยว่าเป็นอย่างไร มีชื่อเสียงด้านการบริหารกองทุนเป็นอย่างไร เพราะอย่าลืมว่าผู้จัดการกองทุนแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน เช่น เก่งตลาดหุ้น เก่งตลาดตราสรหนี้ เก่งตลาดการลงทุนต่างประเทศ นอกเหนือจากนี้ ต้องดูผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนรวมว่าเป็นอย่างไร เพราะจะสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของ บลจ.แต่ละค่ายด้วยว่ามีความเชี่ยวชาญการลงทุนด้านไหน เช่น บลจ.นี้เชี่ยวชาญการลงทุนหุ้น อีกแห่งเชี่ยวชาญการลงทุนตราสารหนี้ หรือบางแห่งเชี่ยวชาญการอกไปลงทุนต่างประเทศ

สุดท้าย ผมอยากให้ดูเรื่องค่าใช้จ่าย โดยค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ผู้ลงทุนจ่ายให้กับ บลจ. เช่น ค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียมการซื้อ (Front-End Fee) และค่าธรรมเนียมการขาย (Back-End Fee)

อีกส่วนที่ผู้ลงทุนต้องจ่ายให้กับกองทุนรวม โดยจะหักออกจาก NAV ของกองทุนนั้นๆ เรียกค่าใช้จ่ายนี้ว่า Total Expense Ratio เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าสอบบัญชี ค่าประกาศหนังสือพิมพ์มูลค่าหน่วยลงทุน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะประกาศผ่านหนังสือรายงานประจำปี

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับข้อควรดูก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวม ถึงแม้จะดูหยุมหยิมไปบ้างแต่ผู้ลงทุนควรใส่ใจ และศึกษาให้ละเอียด ซึ่งไม่ยากในการที่จะหาข้อมูลเหล่านี้ สามารถโทรศัพท์ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ของ บลจ.ทุกค่ายได้ หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.morningstarthailand.com หรืออีเมล์มาสอบถามผมได้ครับ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst