สรุปภาพรวมกองทุนรวม 2556

เงินทุนต่างชาติไหลกลับ ตลาดหุ้นผันผวน หุ้นต่างชาติเด่น หุ้นไทยดับ กองทุนไทยโตอย่างต่อเนื่อง

Facebook Twitter LinkedIn

            จบไปอีกหนี่งปีอย่างรวดเร็วและร้อนแรง ดูจะเป็นปีที่มีเรื่องราวต่างๆให้พูดถึงมากมายไม่แพ้ทุกปีที่ ทั้งสภาวะอากาศที่แปรปรวน บรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนแรง เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ส่วนด้านการลงทุนก็เช่นกัน เชื่อว่าปีที่ผ่านมาเป็นอีกปีหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นปีที่ปราบเซียนที่สุดปีหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นปีที่ตลาดได้ต้อนรับนักลงทุนหน้าใหม่ เข้าสู่ถนนการลงทุนอย่างล้นหลามด้วยเช่นกัน

หุ้น

            ปีนี้ต้องยกให้เป็นปีของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country)  โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกาอย่างแท้จริง หลังจากที่ตามหลังกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) อยู่หลายปีนับตั้งแต่วิกฤต Hamburger Crisis เมื่อปี 2551 แต่ที่ต้องยอมรับและยกแชมป์ให้คือ ญี่ปุ่น ที่ดัชนี Nikkei 225 ทำผลตอบได้ถึง 56.72% เรียกได้ว่านำแบบม้วนเดียวจบ ตั้งแต่หมดไตรมาสหนึ่งเป็นต้นมา ตามมาเป็นอันดับ 2 หนีไม่พ้นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอเมริกา ที่ทั้ง 3 ดัชนี NASDAQ S&P 500 และ Dow Jones ต่างพากันทำนิวไฮ ด้วยผลตอบแทน 38.82% 29.60% และ 26.50% ตามลำดับ เป็นผลมาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนในยุโรปไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ก็ต่างพากันทำผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจที่ระดับประมาณ 16-22% 

ส่วนกลุ่มประเทศในเอเชียต้องถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากเนื่องจากเงินทุนเริ่มไหลกลับไปยัง กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country)  ทำให้ผลตอบแทนในปีที่ผ่านมาไม่ดีเท่าไรอยู่ระดับ -8% ถึง 10% วกกลับมาดูกลุ่มท้ายตารางกันบ้างต้องเรียกว่าเป็นนางฟ้าตกสวรรค์อย่างแท้จริงทั้ง อันดับ 1 และ 2 ของปีก่อนหน้านี้ (2555) นั้นก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของตุรกี และ SET Index ของไทยเรา ด้วยผลตอบแทน -12.32% (แย่ที่สุด) และ -6.70%  (แย่ที่สุดอันดับ 3) ตามลำดับ

สำหรับ SET Index ของไทยเรา ต้องเรียกว่าสะดุดขาตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งที่เมื่อจบไตรมาสแรกของปียังคงอยู่ใน 5 อันดับแรกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ปัญหาต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาท เศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว และปิดท้ายด้วยปัญหาทางการเมืองที่รุมเร้าตลอดช่วงครึ่งปีหลังของปี ต้องบอกว่าทั้งปราบเซียนและต้อนรับนักลงทุนหน้าใหม่ได้อย่างไม่สวยนัก และนี้คือสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีความผันผวนมาก ยิ่งในระยะสั้นยิ่งผันผวนสูงมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองผลตอบแทนย้อนหลังในระยะยาว SET Index ก็ยังทำได้ดีอยู่

ตราสารหนี้

            เรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตราสารหนี้ทั่วโลกอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความกังวลต่อการลดมาตราการ QE ของธนาคานกลางของสหรัฐ ตลอดทั้งปี ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั่วโลกผันผวนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตราสารหนี้ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และทำผลตอบแทนติดลบ -6.58% ซึ่งถือว่ามากในระดับของตราสารหนี้ ในขณะที่ตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วก็ติดลบเช่นกันที่ –2.40% กลับกันว่าเป็นปีที่พอใช้ได้สำหรับตราสารหนี้ในประเทศไทยที่ยังคงรักษาระดับของผลตอบแทนได้ที่ประมาณ 2% กว่าๆ โดยตราสารหนี้ระยะสั้นทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตราสารหนี้ระยะยาวโดย ตั๋วเงินคลังระยะเวลา 91 วัน (ThaiBMA 91 day T-bill) มีผลตอบแทนอยู่ที่ 2.71% ขณะที่ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government bond) ให้ผลตอบแทนเพียง 2.14%

ทองคำ น้ำมัน

หลังจากผ่านช่วงเวลาที่ดีติดต่อกันมา 5 ปี ดูเหมือนการลงทุนในทองคำกำลังพบกับช่วงเวลาที่ยากอีกครั้งทั้งจากความกังวลที่มีต่อการลดมาตราการ QE ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความต้องการทองคำ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับแรงขายทำกำไรของนักลงทุนที่ได้กำไรจากการลงทุนมาตลอด 5 ปี ส่งผลให้ปิดสิ้นปีทองคำเป็นทรัพย์สินที่ทำผลตอบแทนได้ต่ำที่สุดที่ -27.79% (London Fix Gold AM) กลับกันถือว่าเป็นปีที่พอใช้ได้สำหรับการลงทุนในน้ำมันที่สามารถทำผลตอบแทนได้ที่ประมาณ 6.81% หลังจากที่เมื่อปีก่อนหน้านี้เป็นทรัพย์สินที่ทำผลตอบแทนได้น้อยที่สุด

 

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

            คึกคักอีกเช่นเคยสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทยที่ปีนี้ถึงจะเผชิญกับความท้าท้ายมากมายทั้งในแง่ของกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของการทำโปรโมชั่นของแจกของแถมในการขายกองทุนรวมที่ปีนี้ได้จำกัดอยู่ที่สูงสุดเพียง 0.02% เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องมีกันเลยทีเดียว ดังนั้นนักลงทุนที่หวังเพียงของแจกของแถมคงต้องบอกว่าไม่มีอีกแล้วซึ่งก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีและสำคัญสำหรับอุตสาหกรรม ที่พยายามให้นักลงทุนเลือกลงทุนกองทุนโดยพิจารณาผลตอบแทน และความเสี่ยงของกองทุน มากกว่าของแจกของแถม อย่างไรก็ตามแม้จะมีความท้าทายมากขึ้นแต่โดยรวมอุตสาหกรรมก็โตได้ถึง 17.67% ดันยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทะลุ 3 ล้านล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย

สินทรัพย์ที่โตได้โดดเด่นที่สุดและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นกองทุนหุ้นที่สามารถนำเม็ดเงินใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมได้มากถึงกว่า 140,000 ล้ามบาท (กองทุนหุ้นทั่วไป 50,000 ล้านบาท กองทุน Trigger fund 55,000 ล้านบาท LTF 21,700 ล้านบาท และ RMF-Equity 12,000 ล้านบาท) รองลงมาคงหนีไม่พ้นกองทุนรวมชนิดใหม่นั้นก็คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ทำการเปิดตัวไปในปีนี้โดยสามารถทำยอดเงินลงทุนได้สูงถึงกว่า 120,000 ล้านบาท รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือ Property Fund ที่นับว่าเป็นปีสุดท้ายที่จะสามารถขอยื่นเรื่องเพื่อจดทะเบียนเปิดกองทุนได้แล้วจึงทำให้ในปีที่ผ่านมาต้องถือว่าคึกคัก มีกองทุนใหม่เกิดขึ้น 7 กองทุน รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 90,000 ล้านบาท

ส่วนกองทุน LTF และ RMF เรียกได้ว่าโดดเด่นกว่าทุกปีโดยเฉพาะในส่วนของเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในกองทุนทั้ง 2ประเภทนี้ถือว่าทำสถิติใหม่กันทั้งคู่เลยที่เดียว โดยในปีที่ผ่าน LTF มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 21,700 ล้านบาท ขณะที่ RMF ก็ไม่น้อยหน้ามีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 18,000 ล้านบาท พฤติกรรมการลงทุนของการลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกันโดยเริ่มมีการจับจังหวะทยอยลงทุนระหว่างปีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงนิยมลงทุนกันในช่วงท้ายของปี ในส่วนของ RMF เราเริ่มเห็นการเติบโตที่ชัดเจนของการลงทุน RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้นซึ่งทำให้ตอนนี้สัดส่วนของ RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นแทบไม่ต่างกันแล้ว

อีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือกองทุนประเภท Trigger Fund ที่ออกกันมาเป็นสถิติใหม่กันเลยทีเดียวกว่า 90 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 63,000 ล้านบาท โดยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ Trigger Fund ที่ลงทุนในหุ้นไทยกว่า 80% แต่ต้องยอมรับว่ากองทุนส่วนใหญ่กว่า 70% นั้นไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายทำให้ขาดทุนกันมากมาย (ติดลบเฉลี่ย 10-15%) ขณะที่เหลืออีก 30% คือกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย (ประมาณ 8-10%) ส่วนใหญ่จะเปิดตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีและปิดได้ภายในครึ่งปีแรกของปี

 

ผลการดำเนินงานกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ปีนี้ต้องบอกว่าไม่เพียงแต่นักลงทุนหน้าใหม่และรายย่อยเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและขาดทุน นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถ อย่างกองทุนรวมก็มีปีที่ยากลำบากไม่แพ้กันโดยเฉพาะกองทุนหุ้นที่ลงทุนในประเทศไทยเรา ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้ง 2 กลุ่มทั้ง กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) และกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -3.12% และ -4.36% ตามลำดับ ทั้งที่ปิดไตรมาสแรกยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงที่สุดถึง 16.88% และ 17.29% ตามลำดับ แต่ที่โดดเด่นที่สุดต้องยกให้กลุ่มที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง 24.93% และสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นบวกตลอดทั้งปี ซึ่งก็สอดคล้องกับผลตอบแทนของดัชนีในกลุ่มดังกล่าว

ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ กลุ่มกองทุนน้ำมันที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 12.02% ที่เรียกได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งมาจากกำไรจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาก ส่วนกลุ่มตราสารหนี้ต้องบอกว่ากลุ่มตราสารหนี้ที่ลงทุนภายในประเทศสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าที่ลงทุนต่างประเทศ     ปิดท้ายที่แย่ที่สุดคงนี้ไม่พ้นกองทุนทองคำที่ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบถึง -24.58% ที่เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลงอย่างเต็มตัว

 

MstarCatAvg

LTFRMF

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst