หัวใจสำคัญคือการ Rebalancing
หลายคนอาจยังสับสนว่าการปรับพอร์ต (Rebalancing) ส่งผลกับพอร์ตการลงทุนอย่างไรบ้าง อาจคิดว่าการปรับพอร์ตนั้นช่วยให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป จากผลการวิจัยทางวิชาการนั้นบอกว่าการปรับพอร์ตนั้นส่งผลในด้านการลดความเสี่ยงมากกว่า
แนวคิดหลักของการ Rebalancing ก็คือการที่นักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ให้กลับไปอยู่ที่สัดส่วนที่ตั้งเป้าหมายไว้ในตอนแรกอย่างสม่ำเสมอ โดยการขายทำไรออกไปก่อนและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินที่มีการปรับตัวลงจากสัดส่วนที่ตั้งใจไว้ในครั้งแรก
ขายเงินลงทุนที่มีกำไรจากหุ้นออกไปบ้าง
นักลงทุนหลายท่านอาจไม่ได้ปรับพอร์ตของตัวเองโดยเฉพาะในช่วงตลาดขาขึ้น ซึ่งอาจทำให้พอร์ตมีน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 8 ปีที่แล้วสัดส่วนหุ้นต่อตราสารหนี้อยู่ที่ 60:40 หลังจากตลาดหุ้นไต่ระดับขึ้นไปอาจทำให้สัดส่วนเปลี่ยนไปอยู่ที่ 80:20 และนั่นหมายความว่านักลงทุนมีอายุเพิ่มขึ้น 8 ปี จึงควรปรับสัดส่วนหุ้นให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับช่วงอายุ
การ Rebalancing เมื่อมีผลขาดทุนสะสม
สำหรับการ Rebalancing ในช่วงที่มีการขาดทุนสะสม วิธีที่สามารถทำได้คือการขายเงินลงทุนออกจากส่วนที่มีกำไรในกรณีที่มีการใช้จ่ายที่จำเป็น อีกทางเลือกหนึ่งคือการนำเงินปันผลมาใช้แทนที่จะนำไปลงทุนต่อเพื่อไม่เป็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวให้สูงขึ้นไปอีก
การซื้อกองทุนที่ลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้นั้นเป็นทางออกที่ดีหรือไม่
ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือนักลงทุนควรมีส่วนในการตัดสินใจว่าจะขายเงินลงทุนส่วนใดออกมา โดยเฉพาะนักลงทุนที่ยังมีอายุน้อยหรือมีเวลาลงทุนอีกหลายปีก่อนถึงวัยเกษียณ ซึ่ง Christine Benz ยังแนะนำว่าเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลง ถือเป็นโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนที่อายุน้อย ดังนั้นการลงทุนในกองทุนแบบแยกกองออกไปอย่างชัดเจนระหว่างกองทุนหุ้นและตราสารหนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดี เช่น วันนี้นักลงทุนอยากขายกองทุนหุ้น หรือหลังจากนี้อีกหลายเดือนอยากขายกองทุนตราสารหนี้ก็สามารถทำได้ง่ายดาย และเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ หากเป็นการลงทุนในกองผสม นักลงทุนจะตัดสินใจได้ยากว่าจะกลับมาลงทุนอีกเมื่อใด
ตรวจสอบพอร์ตหุ้น
หากนักลงทุนปล่อยให้หุ้นในพอร์ตปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วพอร์ตจะมีการกระจุกตัวอยู่ที่หุ้นเติบโต (growth stock) หรือหากพอร์ตกำลังอยู่ในช่วงการขาดทุนก็ควรจะพิจารณาเพิ่มสัดส่วนในหุ้น defensive (เช่นหุ้นที่มีรายได้หรือกำไรสม่ำเสมอ) เน้นหุ้นคุณภาพ หรือลงทุนหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย และอย่าลืมหมั่นตรวจสอบพอร์ตของตัวเองว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่ เช่น การกระจุกตัวของหุ้นแบบใด ๆ (เช่น หุ้นเติบโต หรือหุ้นคุณค่า) การกระจุกตัวของกลุ่มอุตสาหกรรม หรือการให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป
สุดท้ายนี้จะขอฝากนักลงทุนทุกท่านว่านอกจากเราจะตรวจสอบความเสี่ยงของพอร์ตตัวเองแล้ว ก่อนการลงทุนทุกครั้งอย่าลืมทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สนใจ ทั้งในเรื่องความเสี่ยง ลักษณะการลงทุน ประเภททรัพย์สิน หรือผลตอบแทน เพื่อให้เหมาะกับนักลงทุนแต่ละท่านนะคะ