สรุปภาพรวมกองทุนรวมครึ่งปีแรก 2562

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง วันนี้เรามาเริ่มกันที่ภาพรวมที่มูลค่าทรัพย์สินกันค่ะ

Morningstar 13/07/2562
Facebook Twitter LinkedIn

การลงทุนในไตรมาส 2 เข้าสู่ความผันผวนอีกครั้งหลังจากมีการฟื้นตัวไปในไตรมาสแรก โดยตลาดมึความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวหรือขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้มีความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยในปีนี้เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ ผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade war) เริ่มส่งผลให้การส่งออกของไทยไม่ขยายตัวตามที่คาด และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ทางด้านตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมก่อนที่จะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน โดย SET Index ปิดที่ 1,730.34 จุด SET TR +12.8% เทียบกับสิ้นปี 2018

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปิดที่ 5.3 ล้านล้านบาท ปรับตัวขึ้น 6.2% จากสิ้นปี 2018 โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิเฉพาะไตรมาส 2 รวม 5.1 หมื่นล้านบาท รวม 6 เดือนมีเงินไหลเข้าทั้งสิ้นกว่า 9.0 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลออกจากกองทุนรวมหุ้น, ตราสารตลาดเงิน, กองทุนผสม, และ Commodities ในขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมตราสารหนี้มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6% จากปี 2018 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกประเภททรัพย์สินยกเว้นตราสารตลาดเงินลดลง -1.8%

กองทุนรวมตราสารหนี้ยังคงเป็นสัดส่วนหลักของกองทุนรวมไทยหรือราว 47.5% ของมูลค่าตลาด ตามด้วยตราสารทุน 28.9% และ ตราสารตลาดเงินที่ 13.6% (เทียบกับ มิ.ย. ปีที่แล้วที่ 46.4%, 26.8% และ 16.3% ตามลำดับ)

1 braod TNA Q219 TH

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2019 (ข้อมูลเฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infra)

ปริมาณเงินไหลเข้า-ออกของกองทุน

ในครึ่งแรกของปี 2019 นั้น มีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 9.0 หมื่นล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าจากกลุ่มตราสารหนี้ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยมาจากกลุ่มกองทุนประเภท Foreign Investment Bond Fix Term ที่ 1.63 แสนล้านบาท และกลุ่ม Mid/long term bond ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยในกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term นั้นเกือบ 70% เป็นเงินจาก 3 บลจ. ใหญ่ คือ บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. บัวหลวง และ บลจ. กสิกรไทย ในขณะที่ กลุ่ม Mid/long term bond ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้าจาก บลจ. ทหารไทยสูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท และมาจากกองทุน TMB Aggregate Bond ทั้งสิ้น

หากดูเฉพาะเงินไหลเข้าในไตรมาสที่ 2 นั้น มีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 5.1 หมื่นล้านบาท และยังคงไหลไปที่กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าในกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และเป็นเงินไหลออกจากกลุ่ม Term Fund อื่นๆ (Bond Fix Term, Global High Yield Bond Fix Term, Roll Over Bond, และ High Yield Bond Fix Term) รวม 1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ยังมีกองทุนตราสารนี้ที่ไม่ใช่ Term Fund แต่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักลงทุน โดยมีเงินไหลเข้ามากที่สุด คือ TMB Ultra – Short Bond โดยมีเงินไหลเข้าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท (ครึ่งปีไหลเข้าสูงสุดที่ 2.5 หมื่นล้านบาท) สำหรับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นั้น ตลาดตราสารเงิน มีเงินไหลเข้าประมาณ 7.2 พันล้านบาท ตามด้วย ตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ 3.3 ร้อยล้านบาท โดยกลุ่มกองทุนหุ้นส่วนใหญ่มีเงินไหลออกสุทธิ ยกเว้นกลุ่มที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือ Property – Indirect Global และ Property Indirect ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมกันราว 2.5 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา

1 broad flow Q219 TH

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2019

กองทุนเปิดใหม่

ตั้งแต่ต้นปี มีกองทุนเปิดมาแล้วทั้งสิ้น 327 กอง เป็นกองทุนประเภท Term fund 242 กอง (Foreign Investment Bond Fixed Term, Bond Fix Term, High Yield Bond Fix Term)  คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 5.6 แสนล้านบาท มีกองทุนหุ้นขนาดใหญ่เปิดใหม่ 13 กอง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ตามด้วยกลุ่มกองทุน Aggression Allocation 8 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1.0 หมื่นล้านบาท

ในกลุ่มกองทุนประเภท Term Fund นั้น เป็นกองทุนที่เปิดจาก 3 บลจ. เป็นหลัก คือ บลจ. ไทยพาณิชย์ 73 กอง  บลจ. กสิกรไทย 70 กอง และ บลจ. กรุงไทย 38 กอง คิดเป็น 75% ของกองทุน Term Fund ที่เปิดใหม่ทั้งหมด นับเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งสิ้น 3.89 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กองทุนเปิดใหม่ที่ไม่ใช่ Term Fund ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในครึ่งแรกของปีนี้คงหนีไม่พ้น กอง Thanachart Multi Income โดยมีเงินไหลเข้าสูงถึง 8.9 พันล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้นั้นจัดอยู่ในกลุ่ม Aggressive Allocation

ทั้งนี้ในไตรมาส 2 บลจ. ไทยพาณิชย์ ได้ออกกองทุนใหม่เพิ่มอีก 14 กองทุน ในหลากหลายสินทรัพย์ ประเภท E-class ซึ่งฟรีค่าธรรมเนียมสำหรับนักลงทุน ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมที่ถูกลง หรือไม่เก็บเลย สำหรับกองทุนกลุ่มประเภท passive fund

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category

อัตราการเติบโตของกลุ่มกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 กลุ่มแรก (เทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว) พบว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศหรือต่างประเทศส่วนใหญ่มีการหดตัวลงของขนาดทรัพย์สิน นำโดยกลุ่ม Short Term Bond -14.7% yoy, Mid/Long Term Bond -10.1% yoy, Global Bond -35.4% yoy ในขณะที่กลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term เป็นกลุ่มกองทุนตราสารหนี้เพียงกลุ่มเดียวที่มีการเติบโตจากปีที่แล้ว โดยมูลค่าทรัพย์สินโตเท่าตัวหรือ 112.3% yoy

ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่จะมีการเติบโตของขนาดทรัพย์สินได้ดี เช่น Equity Large-Cap สูงขึ้น 14.7% yoy , กลุ่ม Property - Indirect Global เป็นอีกกลุ่มที่มีผลตอบแทนค่อนข้างดีและได้รับความสนใจจากนักลงทุนโดยเฉพาะในไตรมาสที่ผ่านมาทำให้มีการเติบโตสูงราว 60.0% yoy   

1 categories TNA Q219 TH

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar