เราควรลงทุนในทองคำหรือไม่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ราคาทองคำได้พุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2013 เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมีความกลัวต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอน วันนี้เรามาดูกันว่าเราควรจะมีทองคำอยู่ในพอร์ตเราหรือไม่

Morningstar 29/08/2562
Facebook Twitter LinkedIn

สถานการณ์สงครามการค้ายังคงตึงเครียดมาอย่างต่อเนื่องและได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทำให้นักลงทุนเริ่มหันไปลงทุนในทองคำ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปในระดับสูงนับตั้งแต่ปี 2013 และ European Gold Exchange-Traded Commodities (ETCs) มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในรอบ 5 ปีในเดือนมิถุนายน แต่คำถามคือเราควรจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทองคำในพอร์ตหรือไม่?

ลักษณะการลงทุนในทองคำ

ในหลายยุคสมัยทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่ยังมีมูลค่าในตัวมันเองในหลายช่วงวิกฤตการณ์แม้ว่าจะไม่สร้างกระแสเงินสดให้ผู้ลงทุน ด้วยคุณลักษณะที่ไม่เหมือนใครนี่เองทำให้การตีมูลค่าโดยใช้โมเดลทางการเงินนั้นอาจทำได้ยาก แต่ในหลายครั้งโลหะมีค่าชนิดนี้มักนำไปใช้เป็นมาตรวัดอารมณ์ของนักลงทุน เช่นมีอุปสงค์สูงในช่วงตลาดตึงเครียดและอุปสงค์ต่ำในช่วงภาวะปกติ

ค่า correlation ที่ต่ำหรือติดลบเมื่อเทียบกับสินทรัพย์กลุ่มอื่นทำให้ทองคำน่านำไปเพิ่มในสัดส่วนการลงทุนที่เป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ นั่นเป็นเพราะว่าโดยทฤษฎีแล้วการนำสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์เป็นผกผันกับสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วจะช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน(ที่ปรับด้วยความเสี่ยงแล้ว)ในระยะยาว ซึ่งในกรณีหากราคาทองคำลดลงในช่วงตลาดขาขึ้นอาจส่งผลลบต่อผลตอบแทนโดยรวม แต่อาจสร้างผลตอบแทนได้ในช่วงตลาดขาลง ทดแทนผลตอบแทนที่ลดลงของสินทรัพย์ประเภทอื่นได้

ยกตัวอย่างช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2007-2008 ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลง 48.3% ในขณะที่ราคาทองคำขึ้น 35.8% แต่ 10 ปีหลังจากนั้นผลตอบแทนไปในทิศทางตรงข้าม โดย MSCI ACWI Index สามารถ outperform ทองคำได้รวมมากกว่า 200%

ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง

เพื่อให้เห็นว่าการเพิ่มทองคำในพอร์ตหุ้นและตราสารหนี้จะช่วยให้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงแล้วดีขึ้นได้อย่างไร เราจึงได้ลองสร้างพอร์ตที่มีทั้งหุ้นและตราสารหนี้โดยให้สัดส่วน 60% MSCI World Index และ 40% Bloomberg Barclays Global Aggregate Bond Index และเรียกว่าพอร์ต A ส่วนอีกพอร์ตหนึ่งมีหน้าตาเหมือนกันเพียงแต่เพิ่มสัดส่วนทองคำ 5% และเรียกว่าพอร์ต B

หลังจากนั้นเราได้จำลองดูผลตอบแทนของทั้ง 2 พอร์ตเทียบกัน ผลปรากฏว่าพอร์ต B ให้ผลตอบแทนที่ปรับตัวความเสี่ยงแล้วดีกว่าพอร์ต A ในช่วง 5-10-15 ปี แม้ว่าพอร์ต A จะให้ผลตอบแทนแบบ absolute return ที่ดีกว่าทั้งระยะ 5 และ 10 ปี แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มสัดส่วนทองคำในพอร์ตการลงทุนสามารถช่วงกระจายความเสี่ยงในระยะยาว อย่างไรก็ตามทองคำยังถือว่ามีการแกว่งตัวที่สูงกว่าตราสารทุน ฉะนั้นควรจะอยู่ในสัดส่วนน้อยของพอร์ต

วิธีการลงทุนกับทองคำ

การซื้อทองคำแท่งอาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่อาจจะคำนึงถึงต้นทุน สภาพคล่อง หรือเรื่องความปลอดภัยในการเก็บรักษาด้วย ทางเลือกการลงทุนในทองคำที่ได้รับความนิยมในยุโรปนั่นคือการลงทุนใน exchange-traded commodity (ETC) ที่มีทองคำจริงค้ำประกัน (ETC คล้ายกับ ETF แต่มีโครงสร้างและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน)

สำหรับกองทุนรวมไทยเองมีกองทุนในกลุ่ม Commodities Precious Metals จำนวน 40 กองทุนที่ลงทุนในทองคำทั้งในรูปแบบทองคำแท่งในต่างประเทศหรืออีกรูปแบบที่กองทุนรวมไทยนิยมกันมากคือลงทุนแบบ feeder fund ไปที่ SPDR® Gold Shares ซึ่งเป็น ETF ที่มีการถือทองคำแท่งที่มีขนาดกองทุนใหญ่ที่สุดในโลก และมีการจดทะเบียนในหลายประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ผลตอบแทนสะสมของกองทุนในกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2019 อยู่ที่ 10.3% ถึง 17.7% หรือเฉลี่ย 14.7% และแม้ว่าหลายกองทุนจะลงทุนใน ETF กองเดียวกันแต่ก็มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่างกัน ซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนในต่างประเทศกัน มีค่าธรรมเนียม หรือนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่างกัน เป็นต้น

10 กองทุน Commodities Precious Metal เรียงตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุน

190829 Gold funds TH

ที่มา: Morningstar Direct, *ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2019

สุดท้ายนี้ขอฝากนักลงทุนว่า แม้ผลตอบแทนการลงทุนทองคำในช่วงที่ผ่านมาจะน่าดึงดูดใจ แต่อย่าลืมว่าสินทรัพย์ประเภทนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่ระดับ 8 นักลงทุนจึงควรลงทุนด้วยความระมัดระวังและทำความเข้าใจกับปัจจัยที่มีผลกระทบกับผลตอบแทนก่อนการลงทุนทุกครั้ง เพื่อที่จะได้วางแผนหรือจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุนเอง

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar