ตลาดที่มีค่าธรรมเนียมกองทุนต่ำสุด

จากคราวที่แล้วได้พูดถึงรายงาน GIE ปี 2019 ในภาพรวมกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูกันในรายละเอียดว่าประเทศที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมต่ำหรือตลาดที่เป็นมิตรกับนักลงทุนด้านกองทุนรวมมากที่สุดเป็นอย่างไร

Morningstar 24/09/2562
Facebook Twitter LinkedIn

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายกองทุนคิดจากค่ามัธยฐานถ่วงด้วยน้ำหนักมูลค่าทรัพย์สิน (%)

190923 AWM Top plus Thailand

ที่มา : Global Investor Experience Study: Fees and Expenses 2019

สหรัฐอเมริกา
เป็นตลาดที่ได้คะแนนในด้านค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายกองทุนในระดับสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง มีค่าธรรมเนียมกองทุนที่ต่ำในทั้ง 3 ประเภทที่พิจารณาคือกองทุนผสม ตราสารทุน และตราสารหนี้ กองทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยราว 70% ในตลาดไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน รวมทั้งมีชนิดหน่วยลงทุนที่ไม่มีการเก็บ trailer fee ซึ่งเกิดจากกลไกการแข่งขันในตลาดกองทุน นักลงทุนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯมีการจ่ายค่าให้คำแนะนำตามการบริการจริง (fee-based) และแม้ว่ามอร์นิ่งสตาร์จะไม่ได้นำค่าธรรมเนียมกองทุน ETF มาเป็นส่วนในการพิจารณา แต่ความนิยมของ ETF หรือลักษณะ ETF ที่มีการบริหารเชิงรุกทำให้กองทุนรวมและ ETF คล้ายกันมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าธรรมเนียมกองทุนโดยรวมลดลงด้วย

เนเธอร์แลนด์
สำหรับลักษณะเด่นของตลาดนี้คือ การห้ามเก็บค่าธรรมเนียมการขายและ trailer fee ช่องทางการขายกองทุนมีบริการให้คำแนะนำซึ่งมีการเก็บค่าบริการสำหรับการให้คำแนะนำแยกจากกองทุน กองทุนได้รับอนุญาตให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการแบบ performance fee ในรูปแบบ asymmetrical และมีการใช้ดัชนีชี้วัดหรืออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ใช้อ้างอิงได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการใช้คำอธิบายให้เข้าใจง่าย ทำให้นักลงทุนสามารถประมาณค่าใช้จ่ายได้ง่าย ยกเว้นกรณีมี high-water marks (ดูคำอธิบายในส่วนท้าย) เพราะอาจไม่มีการแจ้งในรายละเอียดล่าสุด

(Performance fee แบบ Symmetrical คือการเก็บค่าธรรมเนียมที่น้อยลงหากกองทุนสร้างผลตอบแทนได้น้อยกว่าดัชนีอ้างอิง ยกตัวอย่างเช่น หากผลตอบแทนกองทุนมากกว่าดัชนีอ้างอิง กองทุนจะเก็บค่าธรรมเนียม 30% ของส่วนที่ outperform และจะลดค่าธรรมเนียมลงเหลือ 0.7% จาก 1.0% หากผลตอบแทนกองทุนน้อยกว่าดัชนีอ้างอิง ในขณะที่แบบ Asymmetrical จะเก็บเพิ่มในส่วนที่ outperform แต่อาจเก็บน้อยลงหาก underperform ในอัตราส่วนลดที่ไม่เท่ากัน)

ออสเตรเลีย
เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ได้คะแนนในระดับ Top จากการออกกฎในปี 2013 ที่ห้ามกองทุนเก็บค่าคอมมิชชั่น แต่ยังอนุญาตสำหรับกองทุนที่มีการจัดเก็บอยู่เดิม และเร็ว ๆ นี้รัฐบาลได้มีการเสนอกฎหมายเพื่อห้ามเก็บค่าคอมมิชชั่นสำหรับทุกกองทุนภายในต้นปี 2021 สำหรับค่าธรรมเนียมการขายในปัจจุบันมีการเก็บในสัดส่วนเพียง 15% ของกองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งกองทุนเหล่านี้มักไม่เปิดให้นักลงรายใหม่เข้าลงทุน

ตลาดออสเตรเลียมีการอนุญาตให้เก็บค่าธรรมเนียมการจัดการแบบ performance fee แบบ asymmetrical เช่นกัน มีการแจ้ง high-water marks พร้อมกับเงื่อนไขการเก็บค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนเพื่อให้นักลงทุนประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับปีปัจจุบันได้

โดยสรุป จากการประเมินในการศึกษาประสบการณ์การลงทุนในครั้งนี้ ทั้ง 3 ตลาดซึ่งได้คะแนนระดับ Top มีลักษณะสำคัญดังนี้ คือมีค่าธรรมเนียมกองทุนในระดับต่ำ มีการแยกเก็บค่าธรรมเนียมด้านการให้คำแนะนำ การแจ้งรายละเอียดด้านค่าธรรมเนียมให้ผู้ลงทุนรับทราบ กฎเกณฑ์ที่ส่งเสริมด้านความโปร่งใสของค่าใช้จ่ายกองทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่มอร์นิ่งสตาร์ให้ความสำคัญในการประเมิน

คำอธิบาย
Trailing commission/fee คือค่าธรรมเนียมที่บลจ. จ่ายให้ตัวแทนขายหน่วยลงทุนเป็นรายปี โดยจ่ายตามระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนผ่านตัวแทนขายรายนั้น ๆ

High-water marks คือมูลค่าสินทรัพย์กองทุนสูงสุดที่ผ่านมา ซึ่งจะถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าธรรมเนียม performance fee เช่น หากกองทุนผลการดำเนินงานลดลงต่ำกว่า high-water marks ในปีที่ 1 และในปีถัดมากองทุนจะสามารถเก็บค่าธรรมเนียม performance fee ได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานกลับขึ้นไปสูงกว่า high-water marks ที่กำหนดไว้

Available for sale คือกองทุนที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดนั้น ๆ ซึ่งรวมกองทุนจากบลจ. ต่างประเทศและกองทุนทีจดทะเบียนในตลาดนั้น ๆ (Domiciled)

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar