หลัก 6 ข้อสำหรับผู้ลงทุนตราสารหนี้

การลงทุนในตราสารหนี้มีลักษณะที่ต่างไปจากตราสารทุนที่หลายท่านอาจคุ้นเคย วันนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์มีหลักง่าย ๆ ข้อสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนค่ะ

Morningstar 14/11/2562
Facebook Twitter LinkedIn

นักลงทุนหลายท่านอาจคิดว่าเราควรจะลงทุนในตราสารหนี้หรือบอนด์ (Bond) ไว้ในพอร์ตการลงทุนแต่ไม่แน่ใจว่าสัดส่วนเท่าไหร่ นานแค่ไหน หรืออาจสับสนในหลักการและปัจจัยที่กระทบกับตราสาร แต่หากมีการจัดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมจะช่วยให้นักลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์การลงทุนได้

1 เข้าใจมุมมองในสถานการณ์ต่าง ๆ

หลายคนที่เริ่มลงทุนตราสารหนี้อาจสับสนว่าทำไมข่าวร้ายอาจส่งผลดีต่อราคาตราสารหนี้ ซึ่งจากความนิยมในตราสารอาจบอกได้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ขาลงโดยเฉพาะช่วงที่สงครามการค้ายังดำเนินต่อไป ความต้องการลงทุนตราสารเสี่ยงต่ำจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นทำให้อัตราผลตอบแทนหรือที่เรามักได้ยินว่า บอนด์ยีลด์ (Bond yield) ต่ำลง จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่หลายฝ่ายกังวลจะส่งผลให้นักลงทุนจะยอมจ่ายมากขึ้นและยอมรับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลงเพื่อแลกกับความปลอดภัย (มากกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยง) กรณีราคาตราสารหนี้ลดลง บอนด์ยีลด์จะสูงขึ้น ก็อาจเป็นเรื่องดีหากเป็นการลงทุนเพื่อสร้างรายรับ

2 กระจายความเสี่ยง

ข้อดีของการถือตราสารหนี้คือการกระจายความเสี่ยงที่ต่างจากตราสารทุนในด้านผลตอบแทน ยกตัวอย่างเช่นช่วงตลาดหุ้นตกไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วแต่ตราสารหนี้มีการปรับตัวขึ้นทำให้ช่วยชดเชยผลขาดทุนไปได้ เหตุผลทางปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญจากการกระจายความเสี่ยงโดยตราสารหนี้คือ เมื่อนักลงทุนหรือกองทุนซื้อตราสารหนี้แล้วผู้ออกตราสารจะจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยซึ่งส่งผลต่อมูลค่าของตราสารหนี้ โดยปกติแล้วตราสารภาครัฐจะมีความเสี่ยงเงินต้นที่ต่ำกว่าตราสารเอกชนเห็นได้จากวิกฤตการณ์การเงินคราวที่แล้ว

3 เลี่ยงการยึดหลักการเดิม ๆ

ผู้ให้คำแนะนำการลงทุนในต่างประเทศหลาย ๆ คนเคยใช้หลัก 80/20 กับพอร์ตการลงทุน คือ 80% เป็นตราสารทุนและ 20% ลงทุนในตราสารหนี้ และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อวัยเข้าใกล้วัยเกษียณ ซึ่งก็เป็นหลักการที่ pension fund มักใช้โดยค่อย ๆ เปลี่ยนอัตราส่วนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าอายุขัยแต่ละคนจะยืนยาวเพียงใดและมีตัวเลือกอะไรที่ช่วยให้การกระจายความเสี่ยงได้

อย่างที่ Jack Bogle ผู้ก่อตั้ง บลจ. Vanguard เคยบอกไว้เช่นกันว่าสัดส่วนตราสารหนี้ควรจะเหมาะสมกับอายุ ฉะนั้นหลักการ 80/20 นี้อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน หรือถ้าไม่แน่ใจนักลงทุนอาจพูดคุยกับที่ปรึกษา/ ผู้แนะนำการลงทุนก่อนจะวางแผนจัดพอร์ตโดยเฉพาะกรณีที่มีความเสี่ยงหรือเงื่อนไขทางการเงินที่ต่างไปจากปกติ

4 เฝ้าระวังสถานการณ์

ตลาดตราสารหนี้อยู่ในช่วง bull market ประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตกจากจุดสูงกว่า 15% ในช่วงต้นของยุค 80 มาจุดต่ำที่ประมาณ 1% กว่า ๆ ในปัจจุบัน แต่สินทรัพย์ประเภทนี้ให้ผลตอบแทนสูงหากเทียบกับในอดีตบนพื้นฐานของผลตอบแทนที่หักด้วยความเสี่ยง ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็ให้ผลตอบแทนติดลบซึ่งหมายความว่านักลงทุนเลือกที่จะลงทุนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินในอนาคต (เงินต้นที่ได้รับคืน) นั่นเอง

จากตลาด bull market ที่ยาวนานนี้ทำให้นักลงทุนหลายคนอาจต้องการลดการถือครองมาซักระยะแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็อาจยังหวังว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะเป็นเหตุผลให้ยังลงทุนต่อไป ซึ่งการที่ทางเฟดปรับทิศทางดอกเบี้ยจากขึ้น 4 ครั้งในปีที่แล้วมาเป็นลด 3 ครั้งปีนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่านักลงทุนควรปรับแผนการลงทุนบ่อยแค่ไหนหากสถานการณ์เปลี่ยนไป

5 มีความยืดหยุ่น

อาจมีข้อโต้แย้งว่าถ้าหากต้องการให้เงินทุนปลอดภัยแล้วทำไมไม่ถือเป็นเงินสดเลยล่ะ? เพราะ bond yield อยู่ในระดับต่ำและมีความเสี่ยงว่าเงินต้นจะอยู่ครบหรือไม่ด้วย แต่เงินสดเองก็มีผลตอบแทนที่ต่ำมากเช่นกันจนทำให้นักลงทุนสูญเสียกำลังซื้อจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก็หมายความว่าเงินสดมีมูลค่าน้อยลงตามเวลาที่ผ่านไปนั่นเอง ฉะนั้นสำหรับนักลงทุนที่วางแผนระยะที่ 2-3 ปี การลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นถึงระยะกลางอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม รวมทั้งพิจารณาจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงเพราะตราสารหนี้อาจมีความเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามในช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลง

6 ให้ผู้เชี่ยวชาญบริหาร

การกระจายความเสี่ยงในพอร์ตหุ้นนั้นอาจทำได้ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูงแต่สำหรับตราสารหนี้นั้นอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและค่อนข้างซับซ้อนที่อาจไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทน แต่ในขณะเดียวกันผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ได้สร้างพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ที่กระจายความเสี่ยงไปตราสารที่หลากหลายเช่น หุ้นกู้เอกชน พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลดความเสี่ยงที่ตราสารใด ๆ จะกระทบกับพอร์ตการลงทุนทั้งหมด โดยพิจารณาหลายปัจจัยรอบด้านเช่น อันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (credit ratings) อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย การเติบโตทางเศรษฐกิจ สภาพคล่อง ไปจนถึงสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนตราสารหนี้อย่างผู้จัดการกองทุนจะสามารถประเมินและตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไปทำให้การลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเลือกลงทุนเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar