ปี 2019 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสนักสำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีมีการปรับตัวไปที่ระดับสูงกว่า 1,700 จุดในช่วงสั้น ๆ ตอนกลางปี ก่อนจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกันเช่น เงินบาทที่แข็งค่าทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบและมีการปรับคาดการณ์จีดีพีลดลง สัญญาณสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เติบโตช้าลงในไตรมาส 3 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤศจิกายน แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็มีการปรับขึ้นได้เล็กน้อยก่อนจะปรับตัวลงมาปิดราคาดัชนีของปี 2019 ที่ 1,579.84 จุด โดยผลตอบแทน SET TR ของปีอยู่ที่ 4.3%
อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นปี 2019 ที่ 5.4 ล้านล้านบาท ปรับตัวขึ้น 6.6% จากสิ้นปี 2018 โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิ รวม 2.1 แสนล้านบาท กองทุนรวมตราสารหนี้ มีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันกองทุนรวมตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ทั้งสองประเภททรัพย์สินยังคงเป็นสัดส่วนหลักของตลาดกองทุนรวมไทย นักลงทุนยังคงให้ความสนใจกับกองทุนที่ลงทุนในประเทศโดยเห็นได้จากปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิรายกลุ่มที่ยังคงเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มเดิมเช่น ตราสารหนี้ไทย กองทุนผสม ไปจนถึงกองทุนหุ้นไทย ในขณะที่กลุ่มกองทุนต่างประเทศยังเป็นทิศทางเงินไหลออกสุทธิเป็นส่วนใหญ่
ผลตอบแทนเฉลี่ยกลุ่มกองทุนส่วนใหญ่ยังเป็นบวก กลุ่มกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระดับสูงส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศ หุ้นเทคโนโลยี หุ้นภูมิภาคยุโรป หุ้นสหรัฐ หุ้นจีน เป็นต้น ในขณะที่กองทุนที่ลงทุนในประเทศให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับต่ำตามสภาวะตลาดการลงทุนไทย
สำหรับกองทุนประหยัดภาษีอย่าง LTF แม้จะเป็นปีสุดท้ายแต่ก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไม่ต่างจากเดิมมากนัก โดยมีระดับเงินไหลเข้าสุทธิใกล้เคียงกับในอดีตและมีมูลค่าทรัพย์สินที่เติบโตขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 4 แสนล้านบาท ทางด้านกองทุน RMF นั้นดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปริมาณเงินไหลเข้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิไปอยู่ที่ระดับมากกว่า 3.0 แสนล้านบาท
อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2019 อยู่ที่ 4.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% จากสิ้นปี 2018 มูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมตราสารหนี้ + 4.8%, ตราสารทุน +11.5%, และกองทุนผสม +14.3% มีเพียงกองทุนรวมประเภทตราสารตลาดเงินที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงเล็กน้อยราว -1.2%
ปริมาณเงินไหลเข้า-ออกของกองทุน
ไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวมราว 1.3 แสนล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าในกองทุนรวมตราสารหนี้ 7.3 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกันกองทุนตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิที่ 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปริมาณเงินไหลเข้าที่ใกล้เคียงกันของทั้งสองประเภททรัพย์สินนี้เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักเนื่องจากระดับความเสี่ยงที่ต่างกัน โดยหากดูในอดีตจะพบว่าหากตราสารหนี้มีเงินไหลในทิศทางใด ตราสารทุนมักจะมีเงินไหลในทิศทางตรงข้ามหรือมีการลงทุนที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับเงินไหลเข้าของทั้ง 2 ประเภททรัพย์สินอาจเกิดจากหลายสาเหตุเช่น กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ไทยทั้งระยะสั้นและระยะกลาง-ยาวมีเงินไหลเข้าสุทธิสูง ซึ่งอาจเกิดจากการเข้าลงทุนก่อนที่จะได้รับผลตอบแทนน้อยลงในอนาคตจากการจัดเก็บภาษี รวมทั้งมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่น่าสนใจราว 2.5% สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นและ 3.5% สำหรับกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว ในขณะที่มีแรงซื้อกองทุน LTF ในไตรมาสสุดท้ายในจังหวะที่ดัชนี SET Index ปรับตัวลง
รวมมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนทั้งปีที่ 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ 1.1 แสนล้านบาท กองทุนตราสารทุน 5.9 หมื่นล้านบาท กองทุนผสม 2.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เป็นเงินไหลออกสุทธิกองทุนตราสารตลาดเงิน -1.4 หมื่นล้านบาทและกองทุนน้ำมันและทองคำ -967 ล้านบาท
กองทุนเปิดใหม่
ในปี 2019 มีกองทุนเปิดใหม่ทั้งสิ้น 633 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ 442 กอง ที่มีการเปิดใหม่ตลอดทั้งปี แต่ในไตรมาส 4 เป็นช่วงที่มีกองทุนตราสารหนี้เปิดใหม่น้อยกว่าไตรมาสอื่นซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term มีกองทุนเปิดใหม่สูงสุดจำนวน 361 กอง โดยมี บลจ. กสิกรไทย เปิดกองทุนกลุ่มนี้สูงสุด 112 กองรวมเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 แสนล้านบาท กลุ่มรองลงมาเป็นกองทุนประเภท term fund เช่นกันคือกลุ่ม Bond Fix Term จำนวน 29 กอง รวมเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ทั้งหมดที่เปิดใหม่ในปีนี้จำนวน 6.9 แสนล้านบาท
กองทุนรวมตราทุนที่เปิดใหม่มีจำนวนทั้งสิ้น 114 กอง กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีกองทุนเปิดใหม่ 30 กอง ในจำนวนนี้มีกองทุน LTF 2 กอง, RMF 2 กอง และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2 กอง รวมเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุนเปิดใหม่กลุ่มนี้ราว 1.4 หมื่นล้านบาท หากไม่นับรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดคือกองทุน LTF จาก บลจ. ยูโอบี คือ UOB Long Term Equity D ซึ่งเป็นกองทุน LTF เปิดใหม่กองสุดท้ายก่อนที่จะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีไป
จากกราฟจะเห็นว่าในเดือนสิงหาคมมีกองทุนกลุ่ม Money Market เปิดใหม่จำนวน 9 กองโดยเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดที่เปิดขึ้นเพื่อรับกับเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับการยกเว้น