เกณฑ์การจัดตั้งกองทุน SSF

สัปดาห์ที่แล้วทาง ก.ล.ต. ได้ออกประกาศเกณฑ์การจัดตั้งกองทุน SSF เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญเป็นอย่างไรมาติดตามกันค่ะ

Morningstar 11/02/2563
Facebook Twitter LinkedIn

ก้าวเข้าสู่เดือนที่สองของปีแล้วนักลงทุนบางท่านอาจเริ่มถามหากองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่หรือ SSF ว่าจะเป็นอย่างไร ล่าสุดทาง ก.ล.ต. ได้ออกประกาศเกณฑ์การจัดตั้งกองทุน SSF แล้ว โดยวันนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์ได้นำสาระสำคัญบางข้อให้นักลงทุนได้ศึกษากันค่ะ

สาระสำคัญของประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน SSF
1 ประการแรกนั้นเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุน SSF ซึ่ง บลจ. จะสามารถตั้งกองทุนใหม่ หรือนำกองทุนที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขเพื่อเพิ่มชนิดหน่วยลงทุน SSF ได้ ซึ่งหมายความว่านักลงทุนอาจเห็นกองทุนที่มีชื่อเดิมแต่มีการเพิ่มชนิดหน่วยลงทุนที่เป็น SSF ขึ้นมาได้และอาจช่วยให้นักลงทุนที่ลงทุนกองทุนเหล่านั้นอยู่แล้วเข้าใจได้ง่าย โดยสามารถสังเกตได้จากการระบุข้อความ “เพื่อการออม” (สำหรับกองทุนจัดตั้งใหม่) หรือ “ชนิดเพื่อการออม” (สำหรับกองทุนที่ขอแก้ไขเพื่อเพิ่มชนิดหน่วยลงทุน SSF) ไว้ในชื่อของกองทุน

2 ถัดมาเป็นการจัดการ SSF ที่จะพูดถึงทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับทั้ง บลจ. และผู้ลงทุนเช่น ระบบการตรวจสอบการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน และการส่งรายงานการถือหน่วยแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเนื่องจากมีเงื่อนไขการถือครองเพื่อประโยชน์ทางภาษี และเป็นเอกสารที่นักลงทุนต้องมีไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นภาษีแก่กรมสรรพากรนั่นเอง

กองทุน SSF เป็นกองทุนที่จ่ายปันผลได้โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับกองทุน LTF ซึ่งจะจ่ายปันผลได้ในกรณีที่กองทุนมีกำไรสะสมและไม่ทำให้กองทุนมีขาดทุนสะสมในรอบปีที่มีการจ่ายปันผล โดยหลักเกณฑ์การจ่ายปันผลนั้นมีหลักเกณฑ์คือ 1) จ่ายจากเงินปันผลหรือดอกเบี้ยรับที่ได้จากทรัพย์สินกองทุนรวม หรือ 2) จ่ายไม่เกิน 30% ของกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิ (โดยใช้ค่าที่ต่ำกว่า)

3 ด้านการลงทุนของกองทุน SSF นั้นเป็นที่ทราบกันแล้วว่ากองทุนรวมเพื่อการออมนี้มีการลงทุนได้หลากหลาย ต่างจากเดิมคือ LTF ที่เป็นการลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก
ทางเลือกการลงทุนที่มากขึ้นนี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของกองทุน SSF เลยก็ว่าได้เนื่องจากเดิมนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีแต่ยังไม่ต้องการลงทุนใน RMF ด้วยเหตุผลด้านระยะเวลาการลงทุนมักจะเลือกลงทุนใน LTF ที่มีเพียงหุ้นไทย และด้วยเกณฑ์ใหม่นี้อาจทำให้มีทางเลือกมากขึ้นเช่นอาจมีกองทุน SSF ที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ไทยหรือต่างประเทศ กองทุนผสม หรืออาจมีกองทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจให้นักลงทุนได้ลองพิจารณากัน

นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาในประเด็นอื่น ๆ อีกเช่น การขายกองทุน ค่าธรรมเนียม การเปิดเผยข้อมูลโครงการ ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลแต่ละหัวข้อได้ที่นี่  

ต่อจากนี้ก็ต้องมาติดตามกันว่าเมื่อเกณฑ์กองทุน SSF นี้มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 จะมีกองทุนจาก บลจ. ใดเปิดขายเป็นกองแรกและเป็นการลงทุนในลักษณะหรือสินทรัพย์ประเภทใด และขอฝากนักลงทุนว่าอย่าลืมศึกษาข้อมูลกองทุน รวมทั้งวางแผนก่อนการลงทุนเสมอเพราะด้วยเงื่อนไขการถือครองต่อเนื่อง 10 ปีเต็ม การจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของแต่ละบุคคลจะเป็นส่วนสำคัญให้นักลงทุนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการลงทุนได้

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar