เกิดอะไรขึ้นกับราคาน้ำมัน

ข่าวใหญ่ในสัปดาห์นี้คือราคาน้ำมันในตลาดโลกติดลบซึ่งนักลงทุนอาจสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ เราลองมาดูกันว่าเหตุการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

Morningstar 23/04/2563
Facebook Twitter LinkedIn

ในช่วงคืนวันจันทร์ที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา นักลงทุนที่ติดตามข่าวสารการลงทุนจะเห็นข่าวราคาน้ำมันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนพฤษภาคม (WTI) ลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนติดลบถึง 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คงไม่มีใครคาดว่าจะเกิดขึ้น

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

สัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่ว่านี้เป็นลักษณะของสัญญาว่าจะซื้อ-ขายตามรอบแต่ละเดือน เมื่อครบกำหนดก็จะมีการส่งมอบน้ำมันจริง ซึ่งผู้ที่เข้ามาทำการซื้อขายสัญญานี้คือฝั่งผู้ผลิตที่เข้าคู่สัญญาเพื่อที่จะได้มั่นใจว่าสามารถขายน้ำมันที่ผลิตออกมาได้ในอนาคต ในขณะที่ผู้ซื้อเช่น โรงกลั่นก็ต้องการทำสัญญาเพื่อให้ได้น้ำมันที่จะใช้ในการผลิตในราคาที่ตกลงกัน แต่สัญญารูปแบบนี้ก็จะมีผู้เข้าสัญญาที่เป็นการลงทุนเช่น กองทุนรวมต่าง ๆ ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของการทำกำไรจากการคาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันนั่นเอง

Demand ลดแต่ Supply ยังไม่ลด

ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างมาก นักลงทุนอาจลองนึกภาพดูว่าในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต้องมี social distancing หรือ lockdown ประชาชนไม่ออกจากบ้าน กิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจลดลง ความต้องการสินค้าบางประเภทลดลง การผลิตก็จะน้อยลง สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความต้องการน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของสินค้าต้องลดลงตามไปด้วย

ทางด้าน supply ของน้ำมัน ถ้านักลงทุนจำกันได้ว่าช่วงกลางเดือนมีนาคมราคาน้ำมันได้ลดลงมาอย่างรุนแรงแล้วในรอบแรกของปีนี้ โดยมีเหตุจากฝั่งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่ไม่สามารถเจรจากันได้สำเร็จในเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมัน และเพิ่มการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ทำให้ supply น้ำมันล้นตลาดโลก

เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ราคาน้ำมันติดลบนี้เกิดจากสัญญาที่จะหมดอายุในวันที่ 21 เมษายน ซึ่งคนที่ถือสัญญาอยู่จะต้องรับน้ำมันจริงไปตามสัญญาที่ถืออยู่ แต่ปัญหาคือปริมาณน้ำมันที่มีมากเกินความต้องการอยู่แล้ว ทำให้เกิดปัญหาว่าเมื่อถึงเวลาส่งมอบแล้วจะเอาน้ำมันไปเก็บไว้ที่ไหน เมื่อไม่มีที่เก็บก็ต้องยอมขายที่ราคาต่ำลงไปเรื่อย ๆ จนถึงราคาติดลบ หรือพูดง่าย ๆ ว่ายอมจ่ายอีก 38 ดอลลาร์ (ต่อบาร์เรลล์) ดีกว่าต้องรับความเสี่ยงว่าจะหาที่เก็บน้ำมันไม่ได้

กองทุนน้ำมันในประเทศไทย

กองทุนรวมไทยที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจัดอยู่ในกลุ่ม Commodities Energy (Morningstar Category) ซึ่งมีการลงทุนในกองทุน United States Oil (USO) หรือ PowerShares DB Oil (DBO) โดยทั้ง 2 กองทุนเป็นกองทุน ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มีนโยบายลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) แต่มีความแตกต่างกันที่ PowerShares DB Oil จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี DBIQ Optimum Yield Crude Oil Index Excess ReturnTM ในขณะที่ United States Oil จะลงทุนให้อัตราการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงราคาสัญญาฟิวเจอร์น้ำมันดิบ (WTI) ซึ่งเป็นสัญญาที่หมดอายุเดือนที่ใกล้ที่สุด ยกเว้นกรณีสัญญาที่จะหมดอายุใน 2 สัปดาห์จะใช้สัญญาที่จะหมดอายุในเดือนถัดไป

จากข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา กองทุน DBO มีการลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ที่จะหมดอายุเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ขณะที่กองทุน USO (ที่มา : USCF Investments) มีการลงทุนสัญญาฟิวเจอร์ที่หมดอายุเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2020 (นอกจากนี้ทั้ง 2 กองทุนมีการลงทุนในตราสารประเภทอื่นด้วยเช่น กองทุนรวมและตั๋วเงินคลัง)

การลงทุนที่ต่างกันของ ETF ทั้ง 2 กองนี้ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาต่างกันไปด้วย โดยกองทุน USO จะสะท้อนภาพทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงที่ชัดเจนจากการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในระยะสั้น ในขณะที่กองทุน DBO มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในช่วงที่ไกลกว่า แสดงให้เห็นว่าแม้กองทุนจะมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการลงทุนตามการเคลื่อนไหวราคาน้ำมันทั้งหมด แต่เป็นการลงทุนตามราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับว่ากองทุนนั้น ๆ มีการลงทุนในสัญญาใด

2020 04 23 1204 TH energy and ETF master

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในรอบนี้แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจแล้ว ยังมีเรื่องของการลงทุนของกองทุนที่อาจมีความซับซ้อนหรือไม่คุ้นเคยนักสำหรับนักลงทุนหลายท่าน นักลงทุนจึงต้องพิจารณาและศึกษาการลงทุนอย่างรอบคอบก่อนการลงทุนทุกครั้งเพื่อให้สามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar