มูลค่าทรัพย์สิน-เงินไหลเข้า-ออกสุทธิ

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิและเงินไหลเข้า-ออกสุทธิตาม Morningstar Category

Morningstar 14/07/2563
Facebook Twitter LinkedIn

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category

กองทุนรวมประเภทความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารตลาดเงินมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดที่ 7.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากยังมีเงินไหลเข้ากองทุนกลุ่มนี้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ตามด้วยกองทุนรวมหุ้นไทยขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 16.2% ไปอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย

ทางด้านกลุ่มตราสารหนี้ไทยกลุ่ม Short Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง -7.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันกลุ่ม Mid/Long Term Bond ที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง -7.6% โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกต่อเนื่อง ทางด้านกลุ่ม Flexible Bond หรือกองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศ มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 14.4% จากเม็ดเงินที่เริ่มไหลกลับเข้าลงทุน

กลุ่ม Global Bond เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นโดดเด่นที่ 19.6% ไปที่ 8.8 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 9 พันล้านบาท รวมทั้งการฟื้นตัวของมูลค่าทรัพย์สินที่ก่อนหน้านี้ลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

2020 07 14 13 41 20 Q2 20 10 Cat TNA

10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด

ในไตรมาสที่ผ่านมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวมทั้งสิ้น 4.0 หมื่นล้านบาทจาก 19 กลุ่มกองทุน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก มีเพียงกลุ่ม Money Market, TH Sector Focus Equity, Aggressive Allocation และ Equity Large-Cap ที่เป็นกลุ่มที่เน้นลงทุนในประเทศที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ

กลุ่ม Money Market เป็นกลุ่มที่นักลงทุนให้ความสนใจต่อเนื่อง โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 7.3 หมื่นล้านบาท รวม 6 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.8 แสนล้านบาท

ด้านกองทุนกลุ่ม Global Bond ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีเฉลี่ยที่ 5.1% จึงอาจเป็นส่วนที่ทำให้กองทุนกลุ่มนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิราว 9.6 พันล้านบาท รวม 6 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท

หากมาดูที่กองทุนตราสารทุนในไตรมาสที่ 2 จะพบว่านักลงทุนให้ความสนใจโดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมากกว่าเช่นกัน เห็นได้จากเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนกลุ่ม Global Equity 8.3 พันล้านบาท, China Equity 4.2 พันล้านบาท, Global Health Care 2.8 พันล้านบาท, Global Technology 2.4 พันล้านบาท ซึ่งกองทุนเหล่านี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด หรือบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ จากสถานการณ์ COVID-19 สะท้อนจากผลตอบแทนที่ค่อนข้างโดดเด่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่ม Global Technology ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 27.9%

ทางด้านกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้นั้น หลังจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้นกับตราสารหนี้ไทยทำให้แรงขายกองทุนรวมตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลงไปบ้าง กลุ่ม Flexible Bond (ลงทุนในตราสารหนี้ไทย 25%-75% ของมูลค่าทรัพย์สิน) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาสล่าสุด โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุนจาก บลจ. ไทยพาณิชย์ รวม 3.2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามหากรวมผลกระทบจากไตรมาสแรกกองทุนกลุ่มนี้ยังมีเม็ดเงินไหลออกสุทธิสูงสุดรอบ 6 เดือนที่ -2.1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันกลุ่มกองทุน Short Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 รวม -3.8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากระดับ -6 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรก รวม 6 เดือนมีเงินไหลออกไปแล้วรวม -1.0 แสนล้านบาท

แม้ว่าดัชนี SET Index จะปรับตัวขึ้นในช่วงในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ทำให้ผู้ลงทุนให้ความสนใจกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มากนัก โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ 423 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) รวม 6 เดือนยังเป็นเงินไหลออกสุทธิ -5.2 พันล้านบาท เช่นเดียวกับกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องรวม 6 เดือนที่เกือบ -3 พันล้านบาท

2020 07 14 13 43 29 Q2 20 10 cat flow

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar